ปตท.สผ. เผยผลประกอบการปี 2563 ยังมีผลการดำเนินงานเป็นบวก แม้เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกและผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยยังขยายธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมอนุมัติจ่ายปันผลงวดปี 2563 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายในปี 2564 อีกร้อยละ 6 และยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามแผนกลยุทธ์
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมในปี 2563 ที่ 5,357 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 167,418 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 16 จากปี 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 6,413 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 198,822 ล้านบาท) โดยปัจจัยหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลง ร้อยละ 18 มาอยู่ที่ 38.92 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 47.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงมากในปี 2563 สืบเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประกอบกับในปี 2563 บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring items) โดยได้ตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันในระยะยาวที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ และโครงการเยตากุน ประเทศเมียนมา สาเหตุมาจากการปรับแผนการผลิตลดลงตามศักยภาพปัจจุบันของแหล่งผลิต
อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 บริษัทมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเทียบกับ 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2562 และมีผลกำไรจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) จำนวน 112 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,632 ล้านบาท)
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในปี 2563 ที่ 720 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 22,664 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 54 จากปี 2562 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,803 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 30.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 68 ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทได้คาดการณ์ไว้ และยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยเงินสดในมือ 3,804 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 114,261 ล้านบาท)
“ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจปิโตรเลียมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งเรื่องสงครามราคาน้ำมัน และผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง ปตท.สผ. ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แต่บริษัทยังคงมีผลกำไรใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเราได้การปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานหลายประการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้โครงสร้างต้นทุนลดลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และยังสามารถขยายธุรกิจได้ตามเป้าหมาย เช่น การได้รับสิทธิสำรวจแปลง 12 ในโอมาน และการชนะการประมูลแปลงสำรวจออฟชอร์ 3 ในยูเออี นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาให้เดินหน้าพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Integrated Domestic Gas to Power) รวมถึงการขยายธุรกิจ AI & Robotics Venture (ARV) เพื่อให้บริการด้านการเกษตรแบบครบวงจรในรูปแบบของแพลตฟอร์ม และธุรกิจการบริการงานวิศวกรรมใต้ทะเล ตามแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 นั้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในระยะยาว สำหรับในปี 2564 ปตท.สผ. ยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้ง ธุรกิจใหม่ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว
อนุมัติจ่ายปันผล 4.25 บาทต่อหุ้น
จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2563 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้ว ในอัตรา 1.50 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ส่วนที่เหลืออีก 2.75 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 2 มีนาคม 2564 และจะจ่ายในวันที่ 26 เมษายน 2564 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2564 แล้ว
ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2564 อีก 6%
สำหรับแผนการลงทุนปี 2564 ปตท.สผ. ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4,196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) เพื่อรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก เร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และดำเนินกิจกรรมการสำรวจเพื่อการเติบโตในระยะยาว โดยได้ตั้งเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยไว้ที่ 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการเริ่มการผลิตปิโตรเลียมใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช