จับตากลุ่มเซ็นทรัลผุดโรงแรมหรูที่สระบุรี ด้านพัฒนาเมืองสระบุรีเตรียมเสนอรัฐเร่งผลักดันแผนเปิดสนามบินนานาชาติแก่งคอย รองรับดอนเมือง พร้อมทำตลาดส่งเสริมระบบการเข้าถึงรองรับการเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงในปี 66
นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ในฐานะประธานกรรมการกฎบัตรสระบุรี กล่าวภายหลังการประชุมปฏิบัติการกฎบัตรครั้งที่ 3 ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หน่วยบริการโรงแรมที่พักและห้องประชุมพื้นที่เขาใหญ่โซนด้านใต้บริเวณอำเภอมวกเหล็กให้เป็นศูนย์ไมซ์ผสมผสานการท่องเที่ยวนิเวศ และให้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายโรงแรมและผู้ประกอบการท่องเที่ยวอำเภอปากช่อง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องจากอำเภอมวกเหล็ก เพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายไมซ์เขาใหญ่
โดยวางแผนจะยกระดับมาตรฐานห้องประชุม ห้องพัก หน่วยบริการ และแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ตามมาตรฐานของสำนักงานส่งเสริมการจัดการประขุมและนิทรรศการ (TCEB) พร้อมจัดวางตำแหน่งด้านการตลาดและการท่องเที่ยวพื้นที่เขาใหญ่ใหม่ รองรับผู้เยี่ยมเยือนและผู้เข้าประชุมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 เท่าหลังจากการเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา
“สำหรับพื้นที่ของมวกเหล็กเองอยู่ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงสระบุรีเพียง 15 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ของอำเภอปากช่องนั้น มีสถานีของรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางท่องเที่ยวและผู้มาประชุมได้อย่างมาก”
นายนภดล กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายการเพิ่มห้องพักและห้องประชุมในพื้นที่มวกเหล็ก ขณะนี้ห้องพักมีอยู่แล้ว 2,800 ห้อง รองรับการประชุมสัมมนาขนาดเล็กได้วันละ 1,500 คน ตามแผนงานระยะที่ 1 ในช่วง 5 ปีแรก ผู้ประกอบการโรงแรมจะลงทุนเพิ่มห้องพักอีก 3,000 ห้องและห้องประชุมรองรับการสัมมนาอีก 3,000 คน ไม่นับรวมห้องประชุมของโรงแรมเซนทาราที่จะเปิดบริการในปี 2564 รองรับได้ 3,000 คน ซึ่งจะทำให้พื้นที่สระบุรี-มวกเหล็กมีห้องประชุมรองรับได้ถึง 7,500 คน หากรวมกับห้องประชุมสัมมนาของผู้ประกอบการโรงแรมของปากช่อง จะมีความสามารถรองรับผู้มาประชุมได้มากถึง 1.5 หมื่นคนตามแผน 5 ปี
ด้าน นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า พื้นที่มวกเหล็ก-ปากช่องมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวนิเวศและศูนย์กลางไมซ์ด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความงดงามของธรรมชาติป่าเขา มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการประชุม โรงแรมที่พัก หน่วยบริการท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว
รวมทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ได้แก่ โครงข่ายถนน 6 ช่องจราจร โครงข่ายมอเตอร์เวย์ โครงข่ายทางด่วน รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และในอนาคตพื้นที่ของอำเภอแก่งคอยยังเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของสนามบินดอนเมือง
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ได้สนับสนุนให้พื้นที่มวกเหล็ก-ปากช่องมีความสามารถการเข้าถึงในระดับที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาเชิงพื้นที่ยังขาดการบูรณาการการพัฒนาของรัฐและของเอกชน การสนับสนุนการท่องเที่ยวยังแยกส่วนไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกฎบัตรสระบุรีในการประสานจัดทำยุทธศาสตร์ร่วม พร้อมการวางแผนกระตุ้นการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ไม่รบกวนและทำลายธรรมชาติ หรือเพิ่มปริมาณผู้เข้าใช้พื้นที่มากกว่าความสามารถในการรองรับ
“เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ควรจำแนกโซนที่ห้ามการพัฒนาให้เด่นชัด เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งควบคุมความสมบูรณ์ของนิเวศ ด้วยพื้นที่ของมวกเหล็กเป็นพื้นที่มีปริมาณโอโซนอันดับ 7 ของโลก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางแผนสงวนรักษาไว้เป็นกรณีพิเศษ กิจกรรมอื่นนอกจากการท่องเที่ยวนิเวศ กิจกรรมไมซ์ และกิจกรรมเศรษฐกิจของชุมชนดั้งเดิม ควรต้องหลีกเลี่ยงในการพัฒนา”