เตือนจุดเปลี่ยนของ “ระเบียบโลก” ในเวที KKP Year Ahead 2025 “ดร.ศุภวุฒิ”ชี้ทางรอดไทยคือ “อาหารและบริการ”
…
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก การเพิ่มขึ้นของนโยบายปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ และโอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยในโลกยุคเปลี่ยนผ่าน เป็นประเด็นร้อนในงานสัมมนา KKP Year Ahead 2025: Opportunities Unbound ที่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าชั้นนำของ KKP โดยมี ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เป็นผู้บรรยายพิเศษ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 14 มกราคม 2568
แนวโน้มโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ดร.ศุภวุฒิ ได้กล่าวถึงการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงเพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ แต่เป็นการสั่นคลอนโครงสร้างระเบียบโลกแบบที่ทุกคนรู้จัก เพราะทรัมป์ ได้แสดงความต้องการถอนตัวหรือการลดบทบาทองค์กรหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น NATO, WHO และ COP ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นผู้สนับสนุนสำคัญมาโดยตลอด “การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงจะไม่ใช่แค่ Presidential Change แต่เป็น Paradigm Shift และเป็นความไม่แน่นอนระดับโลก”
ในส่วนของจีน ดร.ศุภวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงภาวะ “อ่อนใน-แข็งนอก” จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง เห็นได้จากปัญหาสินค้าคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินหยวนที่อ่อนค่า ทำให้กำลังซื้อในประเทศตกต่ำจนกระทั่งเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ในเวทีโลก จีนยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการครองตลาดโลกในสินค้าอุตสาหกรรมก้าวหน้า เช่น แผงโซล่าเซลล์และ รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ยุโรปซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น ประเทศหลักมีการเติบโตต่ำกว่า 1% และมีความไม่แน่นอนและความเปราะบางทางด้านการเมืองและความมั่นคง ดังนั้นความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจคงจะไม่สามารถพลิกฟื้นได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า
โอกาสท่ามกลางความผันผวน
ในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยจีนและสหรัฐฯ เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงและยุโรปอ่อนแอ ดร.ศุภวุฒิมองว่า ประเทศไทยมีทางเลือกใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเกษตร อาหาร และบริการ
• “จีน แม้จะมีประชากรมากถึง 20% ของโลก แต่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ของโลก และมีทรัพยากรน้ำเท่ากับ 6% ของโลก ดังนั้น จีนจึงจะต้องเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรรายใหญ่ของโลกไปอีกนาน และนี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบในด้านการเกษตรและอาหารในการ ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ”
• นอกจากนี้ จีนก็ยังนำเข้าสุทธิการบริการ มีความต้องการในด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา “เพราะไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย ส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะหายไป แต่จะยังคงมีอุตสาหกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ในส่วนของ assembly, testing and packaging แต่อาจจะไม่ใช่หัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (economic engine) ของประเทศไทยในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป”
งานสัมมนา KKP Year Ahead 2025: Opportunities Unbounded โดย KKP ถือเป็นเวทีชั้นนำด้านการเงินและการลงทุนของประเทศ ด้วยข้อมูลเชิงลึกและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถวางแผนและตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด Optimise Your Opportunities ยืนยันโดยรางวัลด้านการบริหารความมั่งคั่งระดับสากลอย่างต่อเนื่อง อาทิ 3 รางวัลล่าสุดจาก The Asian Private Banker ได้แก่ Best Domestic Private Bank, Best CIO และ Best Discretionary Portfolio Management สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการเพื่อลูกค้า และความสำเร็จในมาตรฐานสากล แม้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
ข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KKP สามารถเยี่ยมชมได้ที่ Facebook: Kiatnakin Phatra
หมายเหตุ: เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com