เจ้าสัวน้อย "ศุภชัย เจียรวนนท์" จ่อผงาดนั่งประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ หลังประกาศกฎหมายจัดตั้งสภาดิจิทัลเต็มตัว ท่ามกลางความงวยงง หวั่นนโยบายดิจิทัลไทยไปคนละทิศกับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงผนวกอยู่กับ ส.อ.ท.
แม้กรณีเจ้าสัว ซี.พี. ”ธนินท์ เจียรวนนท์” อดีตประธานเครือ ซี.พี. ที่สื่อฮ่องกงนำไปตีข่าวว่า อาจจะข้ามห้วยมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะถูกปฏิเสธไปอย่างแข็งขันจากผู้เกี่ยวข้องว่าไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว แต่ในส่วนของ "เจ้าสัวน้อย" อย่าง ”ศุภขัย เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือ ซี.พี.นั้น กำลังจะข้ามห้วยไปนั่งเก้าอี้ใหญ่ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เต็มตัว หลังกฎหมายจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
โดยผู้สื่อข่าวรายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ (ดีอี) ว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อประสานการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ หรืองานในสาขาดิจิทัล เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลในเชิงสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่แตกต่างกับบทบาทของ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ที่มาของสภาดิจิทัลนั้น เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มอุตสาหกรรมและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมไปทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง แต่ในการผลักดันการจัดตั้งสภาดิจิทัล ที่แม้จะมีการจัดตั้งสมาคมดิจิทัลและโทรคมนาคมใหม่ ๆ ขึ้นมาร่วม 22 กลุ่ม แต่เมื่อเมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริการดิจิทัลที่ถูกดึงเข้ามาเหล่านั้น กลับพบว่า มีหลายกลุ่มเพิ่งมีการจัดตั้งกันขึ้นมาอย่างฉาบฉวย โดยไม่มีการเชิญกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และบริการโทรคมนาคม ในสภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท.) ที่น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหลักเข้าร่วม ทั้งที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น มีสมาชิกที่คาบเกี่ยวระหว่างอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และบริการโทรคมนาคมอยู่ด้วย
“กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ใน ส.อ.ท. รู้แต่แรกแล้วว่า ใครอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งนี้ ซึ่งแทบจะเป็นธุรกิจในครอบครัวของกลุ่มทุนสื่อสารรายเดียวเท่านั้น ที่มีการแยกบริษัทลูกออกไปจัดตั้งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสมาคมต่างๆ 6-7 กลุ่มที่แทบจะไม่ได้มีความแตกต่างกันเอาเลย สมาชิกก็แทบจะเป็นบริษัทในเครือไม่กี่แห่งแล้วอุปโลกน์ว่า เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งที่ตัวผู้บริหารและสมาชิกเหล่านั้น ก็แทบจะเป็นพนักงานบริษัทในเครือ”
ทั้งนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า การแยกและจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ขึ้นมาเหล่านี้ แทบจะไม่มีที่มาที่ไปและไม่รู้ไปอิงมาตรฐานมาจากไหน เพราะอย่างอุตสาหกรรมซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ หรือดิจิทัลคอนเทนท์นั้น แทบจะให้บริการแบบครบวงจรกันอยู่แล้ว แต่กลับมีการแยกจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทและกลุ่มย่อยออกไป เพื่อให้ดูหลากหลาย ทั้งที่แทบจะเป็นธุรกิจเดียวกัน จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังส่งคนเข้ามาครอบงำการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาดิจิทัลและบริการโทรคมนาคมของประเทศในอนาคตหรือไม่
“การทำเช่นนี้ก็เท่ากับเปิดทางให้กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง สามารถส่งคนของตนเข้ามาเป็นตัวแทนในกรรมการดิจิทัล เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมและพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตนเป็นหลัก และคงแปลกพิลึกที่การผลักดันนโยบายดิจิทัลแห่งชาติ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะผลักดันให้ทุกอณูของเศรษฐกิจก้าวสู่ยุคดิจิทัล แต่ในการดำเนินการผลักดันนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครอบคลุมไปถึงบริการดิจิทัลและโทรคมนาคมด้วยนั้นกลับไม่ถูกดึงเข้ามาร่วมด้วย”