“พิชัย” แนะ กมธ. พลังงาน 6 แนวทางลดราคาน้ำมันได้จริง ชี้ อย่าเอาเรื่องพลังงานมาเล่นการเมืองหรือหาผลประโยชน์ ประเทศจะเสียหายมาก แนะ “ประยุทธ์” ต้องรู้ทันบริษัทพลังงานอย่าถูกหลอก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ตนได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อลดราคาน้ำมันก่อนหน้านี้ ล่าสุดกรรมาธิการพลังงานของสภาผู้แทนราษฏร นำโดย นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการพลังงาน ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย และ นายสมเกียรติ วอนเพียร ประธานอนุกรรมการเรื่องราคาน้ำมัน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้เชิญตนเข้าให้ข้อมูลเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่ควรปรับโครงสร้างเพื่อลดราคาน้ำมันและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้บริโภค กับคณะอนุกรรมการกรรมการด้านราคาน้ำมันที่ห้องประชุมกรรมาธิการที่รัฐสภา
ซึ่งตนได้ชี้แจงว่า ไม่อยากให้มีการใช้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องการเมือง เพราะจะทำให้ประเทศเสียหายอย่างมากได้ และอยากให้มีหลักการในการกำหนดนโยบายพลังงานให้เข้ากับทิศทางของโลกในอนาคต โดยแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงมาแล้ว ไทยก็ควรจะต้องปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้ยุติธรรม อย่าให้บริษัทพลังงานเอาเปรียบประชาชนได้ โดยได้เสนอแนวทางการลดราคาน้ำมัน 6 แนวทางดังนี้
1. เรื่องราคาหน้าโรงกลั่นของไทยให้มีราคาเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งทราบว่าเมื่อปีที่แล้วมีการปรับราคาหน้าโรงกลั่นลดลงมาแล้วครั้งหนึ่งตามที่ตนได้แนะนำและพูดเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ยังคงมีราคาสูงกว่าอยู่ อีกทั้งราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศควรต้องเท่ากับราคาส่งออก จะคิดเหมือนราคาพืชผลเกษตรที่บางครั้งขายราคาสูงในประเทศไม่ได้เพราะราคาพืชผลเกษตรมีราคาสูงจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ราคาน้ำมันสูงผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทน้ำมัน อีกทั้งยังมีการขยายโรงกลั่นเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก แสดงว่ากำไรจากราคาส่งออกน้ำมันที่กลั่นแล้วต้องมีมากอยู่แล้ว
2. การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บอยู่ในปัจจุบันที่ลิตรละ 5.99 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกเท่ากับ 6.41 บาท ซึ่งน่าจะปรับลดลงได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือลดลงลิตรละ 3 บาท แบบคนละครึ่ง ตามแนวทางรัฐบาล ทั้งนี้เพราะในอดีตมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันน้อยมากเพียงลิตรละ 0.01 บาทหรือเกือบไม่เก็บเลย แต่มาทยอยเก็บเพิ่มขึ้นมากตอนช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงหลังการปฏิวัติ
ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันขึ้นราคาก็ควรจะลดการเก็บภาษีลง ทั้งนี้ เพราะน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของการผลิตและต้นทุนของการขนส่งของสินค้า อย่างไรแก็ดี มีการให้ข้อมูลที่ผิดๆของนักการเมืองที่บอกว่าประเทศไทยไม่เคยมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาก่อนเลย และขอให้ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ประเทศไทยมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาตลอดเพราะต้องใช้ภาษีนี้ในการสร้างถนนและซ่อมแซมถนน และมาลดการเก็บลงแต่ไม่ได้ยกเลิกเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
อีกทั้งการยกเลิกการเก็บภาษีสรพพสามิตน้ำมันจะเป็นเรื่องใหญ่ต้องผ่านหลายขั้นตอน และไม่น่าจะทำได้ที่จะยกเลิกเฉพาะภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอย่างเดียว ดังนั้นจึงอยากให้นักการเมืองได้ศึกษาข้อมูลก่อนจะนำเสนอเพราะจะทำให้ดูไม่ดีว่านักการเมือง เอาแต่พูดเพื่อหาเสียงแต่ไม่เคยศึกษาหาข้อมูลเลย
3. การลดการเก็บเงินเข้าเก็บกองทุนน้ำมัน ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันในอนาคตไม่น่าจะผันผวนมากแล้ว เพราะแหล่งน้ำมันในสหรัฐมีการพบแหล่งใหม่เป็นจำนวนมาก และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดลงเรื่อยๆ ทดแทนโดยการใช้พลังงานไฟฟ้า จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องจัดเก็บเงินเข้ากองทุนมากนัก อีกทั้งไม่ควรจะนำกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรที่นำมาทำเป็นพลังงานอีกแล้ว การสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรควรเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตร และในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน รัฐบาลควรนำเงินกองทุนน้ำมันเข้าแทรกแซงราคาเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งราคาน่าจะผันผวนในระยะสั้นๆเท่านั้น ถ้าไม่ใช้เงินกองทุนเพื่อเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องหลัก ก็ไม่รู้จะเก็บเงินเข้ากองทุนไปทำไม เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงก็สามารถจะเก็บเงินเข้ากองทุนมาทดแทนได้
นอกจากนี้ รัฐควรที่จะนำเงินกองทุนน้ำมันที่เก็บมากเกินในอดีตจำนวนเป็นหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลโอนไปให้นำมาคืนกองทุนน้ำมัน เพราะเป็นเงินของประชาชนไม่ใช่เป็นเงินภาษี โดยเงินกองทุนนี้สามารถนำมาใช้สนับสนุนราคาน้ำมันในช่วงราคาที่ผันผวนได้ จนกว่าราคาน้ำมันจะกลับเข้าสู่ราคาปกติ
4. การลดราคาเอทานอลที่ผสมในแก๊สโซฮอล์ ปัจจุบันราคาเอทานอลที่ผสมในแก๊สโซฮอล์มีราคาที่สูงมากถึงลิตรละ 24.83 บาท ในขณะที่ราคาเนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วอยู่ที่ 14.58 บาท และราคาเอทานอลในตลาดโลกก็อยู่ในราคาใกล้เคียงกับราคาเนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้ว ดังนั้นจึงควรเจรจาเพื่อลดราคาเอทานอลลงเพื่อลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง
ทั้งนี้ รวมถึงการเจรจาลดราคาน้ำมันปาล์มที่ผสมอยู่ในไบโอดีเซลด้วยเพราะราคาสูงถึงลิตรละ 36.96 บาท หรือไม่ก็ควรผสมไบโอดีเซลในสัดส่วนที่ลดลงเพื่อลดราคาน้ำมันดีเซล
5. ลดราคาค่าการตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้ค่าการตลาดของน้ำมันได้พุ่งขึ้นสูงมากถึงลิตรละ 2.28-4.31 บาท แต่หลังจากที่ตนได้ออกมาเรียกร้องให้มีการลดราคาค่าการตลาด ทำให้มีการลดค่าการตลาดลงเหลือเพียงลิตรละ 1.98 -3.52 แต่ก็ยังถือว่ามีค่าการตลาดที่สูงอยู่ ค่าการตลาดที่เหมาะสมควรมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 1.50-1.80 บาท ปัจจุบันค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.36 บาท ซึ่งผู้แทนจากสถาบันปิโตรเลียมที่ร่วมประชุมด้วยได้มีความเห็นตรงกับตน และได้แจ้งว่าต้นทุนค่าการตลาดที่จริงอยู่ที่ 1.44 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถลดลงมาได้
6. การลดการเก็บกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เงินกองทุนอย่างสะเปะสะปะ มีการนำเงินไปแจกให้ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ ศอ.บต และ กอ.รมน และมีการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จัดซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง และยังใช้การไม่ได้ แถมบางแห่งอุปกรณ์ยังล่องหน แสดงว่าน่าจะมีทุจริตคอรัปชั่นกันมาก
ดังนั้น ถ้าหากไม่สามารถปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนให้มีประสิทธิภาพได้ ก็ควรจะต้องยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนี้ไปเลย หรือ ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนเหลือเพียงลิตรละ 0.001 บาท เป็นต้น
ทั้ง 6 แนวทางนี้ ทางอนุกรรมาธิการพลังงานด้านราคาน้ำมัน ได้สรุปความเห็นได้ใกล้เคียงกับตนและจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อลดภาระของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้ โดยนายพิชัยหวังว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะสามารถเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทพลังงานที่ต้องมีกำไรของธุรกิจที่อยู่ได้แต่ต้องไม่เอาเปรียบประชาชน และ ประชาชนก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้
อีกทั้งอนุกรรมาธิการก็ได้ทำหน้าที่แนะนำให้รัฐบาลทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนซึ่งจะเป็นประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยทั้งนี้อยากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ศึกษาเรื่องพลังงานและแนวทางทั้ง 6 ให้ละเอียด จะได้ไม่ถูกบริษัทพลังงานให้ข้อมูลที่บิดเบือน หรืออาจถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคลที่มาจากบริษัทพลังงานใหญ่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล และต้องอย่าถูกหลอกว่าราคาน้ำมันแพงแล้วดีเพราะคนจะใช้น้อยลง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่มั่วและไม่จริง โดยราคาน้ำมันที่ถูกลงจะช่วยลดภาระประชาชนและยังจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้