เกษตรย้ำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการตามกฏหมายอย่างเข้มงวด เร่งสกัดปมปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก พร้อมวางระบบรับรองมาตรฐานสุขอนามัยตั้งแต่สวนทุเรียนจนถึงโรงคัดบรรจุ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปูพรมพื้นที่ปลูกทุเรียน เพื่อตรวจสอบและสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกขาย และให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ในการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีว่า ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรในการป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ปี 2564 อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ดำเนินการบังคับและพักการใช้ใบอนุญาตเลขทะเบียน GMP ของล้ง และเลขทะเบียน GAP ของเกษตรกรในกรณีตรวจพบการตัดและการจำหน่ายทุเรียนอ่อน 2) แจ้งให้เกษตรกร ผู้ประกอบการทราบถึงมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหมอนทองก่อนตัด ต้องไม่น้อยกว่า 32% ขึ้นไป และมาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ 3) ตั้งชุดตรวจเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็ว ชุดตรวจที่ล้งและที่สวนเกษตรกร เฉพาะกรณีที่มีการเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันประกาศวันเก็บเกี่ยว (10 เมษายน 2564) และออกใบรับรองผลการตรวจความแก่ของทุเรียน และถ้าพบทุเรียนอ่อนให้คัดออกและทำสัญลักษณ์พ่นสีแดงที่ผล และพิจารณาใช้บทลงโทษขั้นสูงสุด 4) แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจในการสุ่มตรวจและแก้ไขปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพ ในระดับตำบล หมู่บ้าน 5) จัดทำ QR Code ติดที่ทุเรียน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเกษตรกรผู้ปลุกได้ 6) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จัดประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพ รวมทั้งการฝึกอบรมหลักสูตรนักคัด นักตัด ทุเรียนมืออาชีพ และ 7) ตั้งจุดให้บริการตรวจความอ่อน-แก่ ของทุเรียน ณ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่และมีล้งส่งออกจำนวนมากที่สุด เบื้องต้น พบว่ามี 8 บริษัทที่มีความผิดต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายปกครองของจังหวัด ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ดำเนินการทางกฎหมายไว้แล้ว ในขณะที่ผลการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ประมาณ 30% ส่วนใหญ่พบที่ล้งส่งออก จึงนับว่ามาตรการที่ดำเนินการมาในขณะนี้สามารถควบคุมปัญหาได้เป็นที่น่าพอใจ และถึงแม้ขณะนี้เกษตรกรจะสามารถตัดทุเรียนขายได้ตามระบบปกติแล้ว แต่การป้องปรามก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องต่อไป ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส เพื่อควบคุมป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพออกนอกพื้นที่ รวมทั้งในช่วงนี้ต้นทุเรียนโดนลมพายุพัด ทำให้มีผลร่วงหล่น ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจฯ จึงได้เข้าตรวจตามแผงค้าส่งภายในประเทศเพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนเข้าสู่ตลาดบริโภคภายในประเทศอีกด้วย
ด้านสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ได้รายงานผลการปฏิบัติงานเชิงรุกว่า เนื่องจากจังหวัดตราดเป็นพื้นที่ที่จะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดก่อนจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก จึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง เกษตร ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่ อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) และอื่นๆ กว่า 20 หน่วยงาน เป็นหน่วยเฉพาะกิจระดับอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอ ปฏิบัติการลงตรวจคุณภาพผลผลิตถึงสวนของเกษตรกร เพื่อสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) อย่างเข้มข้น ทุกวิถีทาง สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจของจังหวัดตราดได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างทุเรียนของเกษตรกร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 11 เมษายน 2564 สุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งของผลผลิตทุเรียนก่อนการตัด 4 สายพันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 710 ตัวอย่าง โดยยึดเกณฑ์ดังนี้ พันธุ์หมอนทอง เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 32% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์ชะนี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30 % ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์กระดุม เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 27 % ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป และพันธุ์พวงมณี เปอร์เซ็นต์แป้งต้องได้ 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป โดยใช้ตู้อบไมโครเวฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ปี 2564 นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดมั่นใจว่าไม่มีทุเรียนด้อยคุณภาพจากพื้นที่จังหวัดตราดออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เคล็ดลับความสำเร็จนอกจากทีมงานเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลังแล้ว ในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตทุเรียน อย่างเจ้าของสวนทุเรียนต้องมีความจริงใจในการตัดทุเรียนที่มีคุณภาพ คนตัดทุเรียนต้องตัดเฉพาะผลผลิตที่มีคุณภาพ และผู้ประกอบการซื้อ-ขายทุเรียน (ล้ง) ต้องรับซื้อเฉพาะทุเรียนคุณภาพด้วย จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
สำหรับบทลงโทษการซื้อขายทุเรียนที่เก็บเกี่ยวก่อนระยะเหมาะสม กรณีเกษตรกรจะพิจารณาพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เช่นเดียวกับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองโรงคัดบรรจุ GMP ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งผลทำให้ราคาทุเรียนในพื้นที่ไม่อยู่ในระดับต่ำเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิต รวมทั้งยังส่งผลถึงภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทยก่อนส่งออกต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ในปี 2564 เป็นปีแรกที่ประกาศให้มี “วันทุเรียนแก่” (วันที่ 10 เมษายน 2564) ซึ่งเป็นวันดีเดย์ให้เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองภาคตะวันออกโดยไม่แยกรายจังหวัด เน้นหนักในการตรวจสอบคุณภาพ เมื่อเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนให้แจ้งความประสงค์ที่กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้ลงไปตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนตามมาตรฐานที่กำหนด เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนเฉพาะตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุพร้อมสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่ ส่วนกรณีของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ให้แจ้งความประสงค์ที่ด่านตรวจพืชตามพื้นที่ความรับผิดชอบของด่านแต่ละด่าน เพื่อตรวจคุณภาพทุเรียนตามมาตรฐาน ซึ่งโรงคัดบรรจุที่รับซื้อทุเรียนจะต้องตรวจสอบใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนและสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืชจากสวนเกษตรกรด้วย เพื่อใช้ในการยื่นต่อด่านตรวจพืชก่อนส่งออก