สมาคมการผังเมืองไทย ผนึก สกสว. ร่วมหารือนักวิชาการด้านการบินหนุนรัฐบาลใหม่เร่งผลักดัน 3 สนามบินแห่งใหม่ “อุดรธานี-สระบุรี-นครสวรรค์” รับแผนพัฒนาตามกฎบัตรพัฒนาเมือง คาดลงทุนกว่าหมื่นล้านแต่เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้หลักแสนล้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนากลไกเชิงพื้นที่การออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับคณะนักวิชาการวิศวกรรมการบินและคณะผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งโลจิสติกส์ต่างเห็นตรงกันในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งที่ 2 จังหวัดอุดรธานี ท่าอากาศยานนานาชาติสระบุรี และท่าอากาศยานนครสวรรค์ “โดยเฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีนั้น หากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้เดินทางของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานียังอยู่ในระดับปัจจุบัน ท่าอากาศยานแห่งนี้จะสามารถรองรับได้อีก 7 ปี แต่หากศูนย์การประชุมมณฑาทิพย์ขยายพื้นที่รองรับจำนวนผู้เข้าประชุมถึง 9,000 คนและมีการลงทุนศูนย์การประชุมอีก 1.5 หมื่นคน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายกฎบัตรที่ 3 หมื่นคน ท่าอากาศยานปัจจุบันจะรองรับได้แค่ 5 ปี ปัจจัยนี้ไม่รวมการขยายตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นในการศึกษาเชิงลึกเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของการเดินทางจากกิจกรรมการประชุมดังกล่าว”นายฐาปนา กล่าวอีกว่า ในส่วนการลงทุนของเทศบาลที่เป็นผลจากการกำหนดค่าเป้าหมายของกฎบัตรอุดรธานีนั้น จากการเปิดเผยของนายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีว่า เทศบาลฯ ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นำสายไฟฟ้าลงดินระยะที่ 2 กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการในถนนประจักษ์ศิลปาคมนับตั้งแต่บริเวณทุ่งศรีเมืองมาจนถึงสถานีรถไฟอุดรธานี และดำเนินการปรับปรุงถนนดังกล่าวเป็นถนนสายหลัก (main street) และถนนเขียวแห่งการเดิน (green streets for walkable city) นอกจากนั้นจะปรับปรุงพื้นที่ห้วยหมากแข้งระยะแรก 2 กิโลเมตร ให้เป็นแหล่งนันทนาการชั้นดีรองจากสวนสาธารณะหนองประจักษ์ โดยเทศบาลได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนและจากการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของเป้าหมายกฎบัตร อาจทำให้อุดรธานีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกอาจไม่เพียงพอสอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน โดยจากการประเมินศูนย์เศรษฐกิจ ณ จุดยูดีทาวน์แห่งเดียวพบว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท“โดยคณะกรรมการกฎบัตรอุดรธานี จะเรียนเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลแผนงานโครงการพัฒนาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพื่อทราบค่าเป้าหมาย ระดับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และเมือง ซึ่งคณะกรรมการจะบูรณาการแผนงานเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 10 ปี และจัดทำแผนปฏิบัติการอุดรธานีเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎบัตร และเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาที่มีความยั่งยืนต่อไป”