คำเตือนจาก “นายแบงก์ใหญ่” ที่พูดกับพนักงานในสังกัดเมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นให้ต้องฉุกคิด! แม้สิ่งนี้ หลายคนอาจได้เห็นกันมาบ้างแล้วใน “โลกโซเชียลมีเดีย” กระนั้น “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ก็จำเป็นจะต้องนำมา “บอกซ้ำ” พร้อมกับ “ต่อยอด” ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ในท่ามกลางสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งภายในและนอกประเทศ ที่ดูเหมือนจะไม่ปกติสักเท่าใด เนื่องจากโลกวันนี้...ถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน อย่างไร้...รอยต่อนั่นเอง
กับคำเตือนที่ว่านี้ ขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ หากเป็น...เจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ต้องทำในยามนี้ คือ...1. ห้ามขยายกิจการ และ 2. รักษาสภาพคล่องคือเงินสดไว้มากๆ
หากเป็นกลุ่มพนักงานกินเงินเดือน มีข้อห้ามดังนี้ 1. ห้ามตกงานเด็ดขาด เพราะงานจะหายาก ขณะที่หลายบริษัทเริ่มปลดพนักงาน เพราะขาดรายได้ และไม่มีคำสั่งซื้อ จนยอดขายบางบริษัทลดลงกว่า 50%
2. ทำหน้าที่ตนเองในปัจจุบันให้ดีที่สุด ควบคู่กับเร่งพัฒนาความรู้ทุกด้าน เพื่อให้ตัวเองมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่การได้รับเงินเดือนหรือรายได้เพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมหรือต่อยอดให้กับตัวเอง ได้แก่...การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ, จีน แม้กระทั่งภาษาเพื่อนบ้าน อย่าง...พม่า, เขมร, เวียดนาม เป็นต้น รวมถึงการเติมองค์ความรู้ ผ่านเรียนต่อในระดับปริญญาโท โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพหมอ และเป็นวิศวกร ควรไปเรียนเพิ่มเติมให้มีความชำนาญเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น
3. ให้ทุกคนสังเกตจะเห็นว่า...ทุกธนาคารตอนนี้ มีมาตรการที่สำคัญเหมือนกัน คือ เน้นหารายได้ และให้พนักงานทุกคนทุกสาขา ช่วยทำกำไรให้เพิ่มมากขึ้นทุกวิถีทาง ตามที่ตัวเองถนัด และเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายทุกชนิด
นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง ให้นึกไตร่ตรอง ทบทวน โดยใช้ “หลักเหตุผล” เหนือ “หลักอารมณ์” ให้มากๆ สิ่งที่ควรทำ นับจากนี้ ก็คือ...
1. ออมเงิน, รักษาสภาพคล่อง (เงินสด) อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อะไรไม่จำเป็นต้องอดใจไว้ซื้อปีหน้า หรือไม่ซื้อเลยในช่วง1-3 ปีนี้ และ 2. ต้องขยัน อดทนให้เพิ่มมากขึ้น และทุกคนในครอบครัว และ/หรือ ในองค์กร ต้องช่วยกันหารายได้ ถ้ามีหนทางหรือช่องทางก็ต้องรีบทำในทันที
ข้างต้น แค่บางส่วนที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” คัดลอกนำเอามาเป็น “ประเด็นนำร่อง” เพื่อขยายผลในบรรทัดนับจากนี้...
ว่าไปแล้ว สิ่งที่ “นายแบงก์ใหญ่” ท่านนั้น...พูดกับพนักงานของตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องที่คนไทยต่างซึมซับรับรู้กันอย่างกว้างขวางและเป็นอย่างดีแล้ว แถมยังได้สัมผัสกันตรงๆ เต็มๆ ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทว่ามีบางสิ่งที่จะต้องกระตุ้นเตือนกัน นั่นคือ...การรับมือกับสภาวะ “Disruption” ในวงการสื่อสารมวลชน
เห็นได้ชัดว่า...ในช่วงหลายปีมานี้ มีสื่อมากมาย โดยเฉพาะ “สื่อเก่า” ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “สื่อกระแสหลัก” ต่างถูกกระแส “ดิจิทัล เทคโนโลยี” ทำลายล้าง โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์และนิตยสาร) ที่ต้องปิดตัว...เลิกกิจการ หรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็น “สื่อออนไลน์” เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ สื่อทีวี แม้จะอาศัยชื่อ “ทีวีดิจิทัล” แต่นั่นก็แค่...ดิจิทัล ในแง่ของรูปแบบ หาใช่...ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แต่อย่างใด? สุดท้าย 7 ช่อง ใน 24 ช่อง ที่เปิดประมูลช่วงรอยต่อปี 2556-2557 ด้วยวงเงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ต้องเลิกกิจการ และไม่แน่ว่า...จะยังมีปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?
แน่นอน...ไม่ว่าจะเป็นการ “เลิกกิจการ” “ลดขนาดธุรกิจ” หรือปรับเปลี่ยน แล้วหันไปใช้ช่องทาง “ดิจิทัล” (ออนไลน์) แทนที่ ทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานในสังกัดอย่างช่วยไม่ได้ แม้พนักงานที่ถูก “เลิกจ้าง” จะได้รับเงินเยียวยาตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถึงวันหนึ่ง...เงินดังกล่าวย่อมต้องหมดไป ขณะที่การเตรียมการ “ล่วงหน้า” เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ เชื่อว่า...คงมีไม่มากนักกับคนในวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ทำงานด้านเดียวมาตลอดทั้งชีวิต
การหาทางช่วยเหลือและเยียวยาของ “องค์กรสื่อ” แม้จะมีบ้าง แต่คงไม่ทั่วถึงอย่างแน่นอน จึงน่าเป็นกังวลใจว่า...ที่สุดแล้ว คนในวิชาชีพสื่อมวลชน จะหาทางออกในเรื่องนี้ได้อย่างไร? และใครจะขันอาสามาช่วยเหลือพวกเขาได้?
สำหรับ “เพื่อนสื่อฯ” ที่ยังโชคดี...ไม่ถูก “เลิกจ้าง” และต้นสังกัดยัง “ไม่ปิดตัว” นั้น ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนัก! ลองย้อนกลับไปอ่านคำเตือนจาก “นายแบงก์ใหญ่” ดูบ้าง โดยเฉพาะประเด็นการ “ต่อยอดองค์ความรู้และความสามารถ”
ลองหลับตา...แล้วนึกย้อนหลังกลับไปเมื่อยี่สิบถึงสามสิบปีก่อน! ยุคที่สื่อมวลชน กลายเป็นอาชีพในฝันของคนหนุ่มสาวยุคนั้น สถาบันการศึกษาหลายแห่ง...แห่แหนแย่งกันเปิดคณะหรือภาควิชา...นิเทศศาสตร์, วารสารศาสตร์, สื่อสารมวลชน ฯลฯ หวังช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์จากลูกค้านักศึกษา...
ถึงตอนนี้...บางมหาวิทยาลัยต่าง “ไล่ปิดคณะฯ” กันแทบไม่ทัน! หลายคนที่แบกวุฒิปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้อง จำต้อง “ตกงาน” ทั้งที่ยังไม่เคยได้ทำงานในสาขาวิชาชีพ “สื่อสารมวลชน” ด้วยซ้ำไป
นาทีนี้...ใครที่โชคดี มี “ต้นสังกัด” ให้ได้ร่วมงานในฐานะ “สื่อมวลชน” ย่อมต้องรักษาสถานภาพของตัวเองเอาไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด! ไม่เพียงแค่นั้น...หากยังต้องเร่ง “ต่อยอด” และพัฒนาทั้ง “องค์ความรู้ใหม่” และ “ความสามารถใหม่ๆ” เพิ่มเติมกันอย่างขนานหนักอีกด้วย
ลำพังแค่...“ทำข่าวได้ สัมภาษณ์เป็น เขียนข่าวเป็น ถ่ายภาพได้” แค่นี้...อาจไม่เพียงพอกับการทำงานในบทบาท “สื่อมวลชนยุคใหม่” ยามนี้...
ลองคิดดู...หากคุณเป็น “เจ้าของธุรกิจสื่อ” และ/หรือ “ผู้บริหารสื่อ” คุณจะเลือกใคร? มาร่วมงาน หรือให้อยู่ร่วมงานกันต่อไป ระหว่าง...
คนหนึ่ง “ทำข่าวได้ สัมภาษณ์เป็น เขียนข่าวเป็น ถ่ายภาพได้” ขณะที่อีกคน...ทำได้อย่างที่คนแรกทำ แต่มีเพิ่มเติมให้กับ “ต้นสังกัด” คือ เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ, ทำหน้าผู้ประกาศ หรือรายงานข่าวจากภาคสนามได้, รวมถึงถ่ายทำคลิปวีดิโอและตัดต่อคลิปข่าว ได้ด้วยตัวเอง (ผ่านสมาร์ทโฟน)
ทั้งหมดสอดประสานกับสิ่งที่ “นายแบงก์ใหญ่” ท่านนั้น ได้ส่งสัญญาณเตือนกันมาก่อนหนี้นั่นเอง
“สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” เอง พอล่วงรู้มาว่า...มีบางองค์กรสื่อ ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยกลุ่มคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวง “สื่อออนไลน์” มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือ “เพื่อนสื่อ” ทั้งในกลุ่มที่ต้องการ “ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ” หรือแม้แต่จะหา “อาชีพเสริม” รวมถึง “เปลี่ยนไลน์ธุรกิจ” ออกไปจากวิชาชีพ “สื่อสารมวลชน”
องค์กรสื่อที่ว่า...ก็พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตามที่ศักยภาพจะพึงมี ขึ้นอยู่ “เป้าประสงค์” ของคนที่เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือว่า...พวกเขาต้องการอะไร? มีความเชี่ยวชาญหรือถนัดด้านไหน? ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง? ก็เท่านั้น
ส่วนการจะส่งให้ไปถึง “ฝั่งฝัน” จนสุดปลายทางได้หรือไม่? ขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยเสริม” และ “ความร่วมมือ” จากภายนอก ซึ่ง “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” เห็นว่า...ขณะนี้ เริ่มมีการทาบทามในแบบที่ “ไม่คิดค้าความเดือดร้อนของเพื่อนสื่อ” ด้วยหวังจะยกระดับความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ให้ตรงกับ “ตลาดแรงงาน” และสถานการณ์ของ “ดิจิทัลเทคโนโลยี” กันบ้างแล้ว
ขอ “เพื่อนสื่อ” ได้โปรดจำสิ่งนี้ให้ขึ้นใจว่า...สภาวะ “ดิสรัปชั่น” จากความก้าวล้ำของ “เทคโนโลยีดิจิทัล” กระทั่งทำให้พฤติกรรมของ “ผู้บริโภค” (คนดู, อ่าน, ฟัง) สื่อฯ เปลี่ยนไป...จากที่เคยเสพ “สื่อเก่า” (หนังสือพิมพ์, วิทยุ และโทรทัศน์) แล้วหันมาเสพ “สื่อใหม่” (โซเชียลมีเดีย)
สิ่งนี้...ไม่ได้ทำให้ “ธุรกิจสื่อ” ต้องม้วนเสื่อ...เลิกกิจการกันไปได้ ตราบใดที่ “คนถืองบโฆษณา” (สปอร์เซอร์) ยังไม่เปลี่ยนใจ และยังคงให้การสนับสนุนสื่อนั้นๆ ด้วยดี
ทว่า...ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คือ “คนถืองบโฆษณา” มักจะพิจารณาการ “ซื้อสื่อ” จากพฤติกรรม “ผู้บริโภค” เป็นหลัก ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจ...หากพวกเขาจะลดการใช้งบโฆษณากับ “สื่อเก่า” แล้วนำมากระจายลงใน “สื่อใหม่” ประเภทต่างๆ ที่ให้ผลและวัดผลได้อย่างตรงจุด...ตรงเป้า และเข้าประเด็นได้ดีกว่า แถมมีประสิทธิภาพสูงกว่า
ถึงตรงนี้...หาก “เพื่อนสื่อ” คิดจะพัฒนาและต่อยอดตัวเอง ทั้ง...องค์ความรู้และศักยภาพการทำงาน เสียแต่วันนี้... “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” เชื่อว่า...คงยังไม่สาย ขึ้นกับว่า...คุณจะเลือกทำกันใคร? และทำอย่างไร? เท่านั้น!!!.
โดย..กากบาทดำ