ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ประกาศผลการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE SET Index Series มีผลวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป สำหรับดัชนี FTSE SET Mid Cap Index มี 3 หลักทรัพย์ใหม่ที่เข้าร่วมคำนวณ ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) และ บริษัท คอมเซเว่น (COM7) นอกจากนี้ กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ยังติดในดัชนี FTSE SET Shariah Index อีกด้วย ขณะที่การทบทวนหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีชุด FTSE SET Index Series จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้า โดยมีกำหนดทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2562 กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ล่าสุด ( 8 มิ.ย.2562 ) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป ) ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ราคาหน่วยลงทุนปิดที่ 11.80 บาทต่อหหน่วย เทียบกับราคาพาร์ที่ 9.99 บาท โดยนักลงทุนที่ถือกองทุนนี้ตั้งแต่ราคาที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ถือว่ามีกำไรแล้ว กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ยังเป็นกองทุนที่มีอนาคตอีกไกล ความเห็นของ “พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ “ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มองว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงยามภาวะการลงทุนผันผวน โดยกองทุนรวมพื้นฐานเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก แต่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย แนะนำซื้อ กองทุนTFFIF จาก 4 ปัจจัยโดดเด่น คือ 1. อายุสัญญาที่เหลือ 29 ปี 2. มีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากกิจการทางพิเศษ 3. ความผันผวนที่ต่ำเพราะไม่มีรายจ่ายลงทุน (CAPEX) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และ 4. มีโอกาสที่จะมีการอัดฉีดสินทรัพย์รายการใหม่จากรัฐบาล นอกจากนี้ “ด้วยความที่ TFFIF มีสถานะปลอดหนี้สิน” จึงทำให้กองทุนฯ สามารถกู้ยืมได้เพิ่มเติม ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงคาดการณ์ขนาดของกองทุน TFFIF ที่ 1 แสนล้านบาท จึงมองว่าความสามารถทางการเงินของรัฐบาลจะมีระดับที่จำกัด สืบเนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่ 42% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่โครงการภายใต้แผนปฏิบัติงานด้านคมนาคมจะใช้งบประมาณที่ 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงมีสมมติฐานสถานการณ์กู้เงิน ด้วยอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุน (ดี/อี เรโช ) ที่ 0.5 เท่า บล.กสิกรไทย ให้ราคาเป้าหมายอิงวิธีคิดลดกระแสเงินสด ( DCF ) อยู่ที่ 13.31 บาท ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายปี 2562 นี้ส่วนความเสี่ยงในการลงทุนมี 3 เรื่อง คือ 1. ปริมาณการจราจรที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการเลื่อนขยายเส้นทางเพิ่มเติม 2. การปรับเพิ่มค่าผ่านทางที่ชะลอลงจากการแทรกแซงของรัฐบาล และ 3. การอัดฉีดสินทรัพย์ในขนาดเล็กหรือไม่มีเลย โดย ชิลลิ่ง