ผ่านการประมูลไปแล้วทั้ง 7 สัญญาของรถไฟภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ยังมีลุ้นอีก 7 สัญญาในเฟสแรก คาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นร่างเอกสารประกวดราคาได้ในเดือน ก.ค.นี้ รวมวงเงินทั้งโครงการกว่า 1.7 แสนล้านบาท
โดยแบ่งเป็นงานโยธาวงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาทให้กลุ่มรับเหมาทั้งไทยและต่างประเทศได้โกยงานกันทั่วหน้า โดยมีแผนเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้
นำร่องก่อน 3.5 กม.
แม้ตอนแรกในการริเริ่มโครงการระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตร ที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) รับไปดำเนินการขณะนี้มีความคืบหน้าเกือบแล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะส่งมอบงานโยธาได้ในเดือนกันยายนนี้ก่อนที่จะพร้อมให้เข้าพื้นที่ติดตั้งงานวางรางและงานระบบอาณัติสัญญาณในระยะต่อไป
ส่วนตอนต่อมาที่เปิดประมูลแบบอีบิดดิ้ง ตามระบบที่กรมบัญชีกลางกำหนด คือ สัญญาที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,115 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด รับงานสัญญาดังกล่าวขณะนี้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างไปแล้ว
กิจการร่วมค้าไทย-จีนโกย 2 สัญญา
ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศร่าง TOR การประกวดราคาจ้างก่อสร้างอีกจำนวน 5 สัญญา ระยะทาง 144 กม. วงเงินรวม 58,427 ล้านบาท ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) พร้อมนำเสนอประมูลต่อเนื่องอีก 5 สัญญาดังกล่าว
โดยมีความพร้อมประมูลก่อนจำนวน 2 สัญญา ระยะทางรวม 44 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยงานสัญญา 4-3 (งานโยธาช่วงนวนคร-บ้านโพ) ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าที่ประกอบไปด้วย บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด จากจีน ,บริษัทเนาวรัตนพัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอเอส แอสโซซิเอท เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 1.1 หมื่นล้านบาท งานสัญญา 4-2 (งานโยธาช่วงดอนเมือง-นวนคร) ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้าที่ประกอบไปด้วย บริษัท ซิโนไฮโดรจำกัด จากจีน ร่วมกับบริษัทสหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 8,600 ล้านบาท
3 สัญญาเร่งตรวจสอบคุณสมบัติ
ล่าสุดเปิดประมูลอีก 3 สัญญาที่เหลือประกอบไปด้วย 1. สัญญาที่ 3-1 (งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า) ระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 11,386 ล้านบาทผลปรากฎว่ามีผู้เสนอราคาจำนวน 6 รายจากผู้ซื้อทีโออาร์จำนวน 26 ราย พบว่ามีผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท 2. สัญญาที่ 3-4 (งานโยธาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด) ระยะทาง 37 กิโลเมตร ราคากลางกำหนดไว้ที่ 11,659 ล้านบาทมีผู้เสนอราคาจำนวน 6 ราย จากผู้ซื้อทีโออาร์ทั้งหมด 22 ราย พบว่ามีผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,788 ล้านบาท และ 3. งานสัญญาที่ 4-6 (งานโยธาช่วงพระแก้ว-สระบุรี) ระยะทาง 31 กิโลเมตร ราคากลางกำหนดไว้ที่ 11,170 ล้านบาทมีผู้เสนอราคาทั้งหมด 8 ราย จากผู้ซื้อทีโออาร์ทั้งหมด 24 ราย พบว่า มีผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,429 ล้านบาท มีลุ้นกันว่ารับเหมาสัญชาติจีนสามารถเข้ามาชิงประมูลสัญญาใดสัญญาหนึ่งใน 3 สัญญานี้ได้อีกหรือไม่
มีลุ้นอีก 7 สัญญาของเฟสแรก
ส่วนที่เหลือเป็นการก่อสร้างงานโยธาและโรงซ่อมบำรุงอีก 7 สัญญา (งานทางวิ่งรวมงานสถานี งานอุโมงค์ และงานศูนย์ซ่อมบำรุง) ซึ่งคาดว่าจะประกาศร่าง TOR ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2562
สำหรับสถานะปัจจุบันของโครงการรถไฟไทย-จีนนั้นขณะนี้ 2 สัญญาแรกเริ่มการก่อสร้างไปแล้ว คือช่วงกลางดง-ปางอโศกและช่วงสีคิ้ว-กุดจิกต่อมาอีก 2 สัญญา คือ 4-2 และ 4-3 อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบการประมูล ก่อนที่จะเสนอลงนามสัญญาตามขั้นตอนต่อไป ส่วนอีก 3 สัญญา คือ 3-1 ,3-4 และ 4-6 อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับเหมาที่เสนอราคาประมูล สำหรับอีก 7 สัญญาจากทั้งสิ้น 14 สัญญาในเฟสแรกนี้คาดว่าจะเสนอเปิดประมูลใน 1-2 เดือนนี้ต่อเนื่องกันไป
ดังนั้น ในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของวงการรับเหมาโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในประเทศไทยที่ได้เห็นภาพของกิจการร่วมค้าเข้าร่วมประมูลแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะรับเหมารายกลางรายย่อยของไทยกับรายใหญ่ของจีน คาดว่าบริษัทรับเหมาของไทยจะได้เรียนรู้องค์ความรู้โครงการรถไฟความเร็วสูงไปในตัว
ส่วนบริษัทของจีนก็ได้งานก่อสร้างไปดำเนินการ และสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป ประการสำคัญยังไม่เป็นการผูกขาดกรณีการประมูลงานขนาดใหญ่กับผู้รับเหมารายใหญ่รายใดรายหนึ่งเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป!