เหลือบไปเห็นเรื่องที่ 3 กูรูด้านพลังงาน คือ นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นาย บวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมามารีน จำกัด (มหาชน) และ นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาสะท้อน "ความจริง....ค่าการกลั่น" หลังมีข่าวรัฐบาลและกระทรวงพลังงานกำลังหาทางรีดกำไร 24,000 ล้าน จากโรงกลั่นเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ที่นัยว่า ขณะนี้ติดลบไปแล้วกว่า 102,000 ล้านบาท
หลังถูก นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาเปิดโปงกำไรจากโรงกลั่นพุ่งทะลักถึงไปลิตรละ 8 บาท ทั้งที่ก่อนหน้าเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงไม่ถึงลิตรละบาทเสียด้วยซ้ำ ทำเอาประชาชนคนไทยและแวดวงพลังงานหูผึ่งอะไรมันจะ “เว่อร์วังอลังการ” ขนาดนั้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงานของประเทศที่กำลังทำเอาราคาสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะระดับรากหญ้าสำลักราคาน้ำมันกันจนไม่เป็นอันทำมาหากิน
ล่าสุดนี้ หัวหน้าพรรคกล้า ยังออกมาขยี้ซ้ำในประเด็นค่าการกลั่นที่ว่า โดยอ้างอิงข้อมูลทางการที่เผยแพร่อยู่บนหน้าเว็ปไซต์ EPPO ของกระทรวงพลังงานเอง ที่ยังคงระบุว่า ค่าการกลั่น ณ วันที่ 25 มิ.ย. ทะลุไปถึง 10 บาทต่อลิตรไปแล้ว (http://www.eppo.go.th/.../petro.../price/structure-oil-price) ยิ่งทำให้ทุกฝ่าย ”ช็อคตาค้าง” กันเข้าไปอีก
ขณะที่ นายเจน กล่าวยืนยันว่า ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไร โดยเป็นผลลัพธ์จากการนำวัตถุดิบมาแปรรูปและขายออกไปในแต่ละเดือน ซึ่งไม่สามารถคอนโทรลได้ และต้นทุนแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน โดยข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันที่มีเปิดเผยบนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่มีการทำตัวเองอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง โดยจะเห็นตัวเลขว่า ปี 2020 อยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งถูกมาก และปีนี้ขยับมาที่ 3 บาทกว่าๆ จนกระทั่งมาเดือน เม.ย. 2565 กระโดดมาที่ 5.27 บาท เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 6 บาทกว่าๆ แต่ไม่ถึง 8 บาท
“ปีที่เกิดโควิด น้ำมันเครื่องบินขายไม่ได้ จึงนำไปทำน้ำมันตัวอื่นที่ราคาต่ำกว่า เกิด Effect ในตัวกำไรของโรงกลั่นเหมือนกัน ดังนั้น สถานการณ์ไม่มีอะไรแน่นอนมีความผันผวน ตัวเลขที่ขึ้นมาก็ลงได้ตลอดเวลา รัฐจะไปล้วงกำไรกลับมาจะต้องย้อนไปคิดถึงในเรื่องที่ตอนที่เขาเสียขาดทุน”
ชณะที่ นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่แท้จริงนั้นแพงมาก เพราะน้ำมันหายาก ประเทศอังกฤษก็ขาดแคลนน้ำมันเช่นกัน จึงต้องชื่นชมประเทศไทยที่ไม่ต้องเข้าแถวหรือแย่งกันเติมน้ำมัน ถือเป็นเรื่องของ Security ที่ประเทศไทยทำงานได้ดี ส่วนน้ำมันดิบที่ซื้อมาเราสามารถจัดหามาได้ แต่จัดหามาด้วยความยากเพราะต้องไปแย่งในตลาด เมื่อไปแย่งจะมี Premium ที่ราคาบวกขึ้นไปอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันถือเป็นเทรนของราคามีขึ้นมีลง เกิดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นโรงกลั่นมีความกังวลว่า จะไม่มีปันผล จึงต้องมีการเอากำไรสะสมมาจ่ายปันผล ดังนั้น ช่วงที่ขาดทุนมีใครสนใจโรงกลั่นหรือไม่ ประเทศไทยเพื่อความมั่นคงและประคองราคาไว้ระดับ 30 บาทต่อลิตร ถึงเวลาก็อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด สำหรับประเด็นสัดส่วนไบโอดีเซล เชื่อว่าชาวสวนปาล์มอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าโรงงาน B100 ซึ่งก็เข้าใจตรงจุดนี้ของภาครัฐที่ต้องบริหารให้ครอบคลุม
“ค่าการกลั่นยืนยันว่า ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ เพราะเป็นส่วนต่างในการเอาน้ำมันดิบมา 1 ลิตร เมื่อกลั่นแล้วจะได้โปรดักส์ชนิดต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย แม้ว่าดูเป็นเทรนราคาช่วงนี้อาจจะเยอะแต่จะเอาเงินจากโรงกลั่นไม่ได้ ภาครัฐจะกล้าทำหรือเปล่า ทำแล้วเสียเครดิต ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร และหากเอาจากโรงกลั่นกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็อาจจะทำได้ แต่โรงกลั่นต่างชาติหละ อาจต้องนำเงินกลับประเทศ เป็นต้น”
ฟังข้อมูลของอดีตประธาน ส.อ.ท. และข้อมูลที่หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาเปิดโปงแล้วก็ให้ “อึ้งกิมกี่” โดยเฉพาะข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมัน และ “ค่าการกลั่น” ที่กระทรวงพลังงานเผยแพร่อยู่บนเว็ปไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เองที่ว่าปี 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 70 สต./ลิตร ก่อนขยับขึ้นมาปี 65 ที่ 3 บาทกว่า และเดือนเม.ย.65 ขยับมามาที่ 5.27 บาท มิ.ย.65 ขยับมา6 บาทกว่า และล่าสุด 25 มิ.ย.ปาเข้าไปถึง 10 บาทนั้น ไม่ว่ากระทรวงพลังงานจะดาหน้าออกมาอ้างอย่างไร
แต่สำหรับประชาชนคนไทยแล้วคง “รับไม่ได้” กับตัวเลขที่ว่านี้ อะไรมันจะเว่อวังอลังการ และ “ทุเรศ” กันสุดๆ ขนาดนี้
แค่เกินลิตรละ 1 บาท ก็น่าเกลียดอยู่แล้ว เพราะสูงกว่าค่าการตลาดเสียอีก และถือเป็นการคิดกำไรซ้ำซ้อนบนต้นทุนราคาน้ำมันตัวเดียวกัน
แต่หากเป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน รมว.กระทรวงพลังงาน คงต้องตอบประชาชนคนไทย และนายกฯ ลุงตู่ ให้ได้ว่า สนพ. ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลพลังงานจะเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนขนาดนี้ได้อย่างไร? แปลว่า กระทรวงพลังงานกำลังนำ “ข้อมูลเท็จ” ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ท้าทาย “พี่ศรี” อย่างนั้นหรือ?
เหนือสิ่งอื่นใด ขณะที่กระทรวงพลังงานออกมาปฏิเสธในเรื่องของค่าการกลั่น โดยยืนยัน นั่งยันว่า ไม่ได้สูงอย่างที่ “พรรคกล้า” ออกมาเปิดโปงเป็นรายวัน แต่การที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในอันที่จะขอดกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันในเมืองไทยกว่า 24,000 ล้านบาทเข้ารัฐ เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพยุงราคาน้ำมัน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา “คณะทำงานเพื่อพิจารณานำเงินช่วยเหลือจากโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ในส่วนของดีเซล และลดราคาเบนซินอัตรา 1 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม-กันยายน) ภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ร่วมกับตัวแทนกลุ่มโรงกลั่น 6 โรง ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP 2. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC 3. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC 4. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP 5. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และ 6. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ยังไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นทางการได้ โดยยังคงมีนัดจะหารือให้ได้ข้อยุติกันในวันที่ 29 มิ.ย.นี้
แค่นี่มันสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ....“นี่คือใบเสร็จ” ที่กระทรวงพลังงานกำลังบอกสังคมว่า “ค่าการกลั่น” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของการดำเนินงาน และไม่สมเหตุสมผลจนต้องขอขอดเกล็ดกำไรจากโรงกลั่นกลับมาใช่หรือไม่? !!!
"จำนนใบเสร็จ" กันเสียขนาดนี้แล้ว ยังมีหน้าออกมาปกป้องผลประโยชน์นายทุนกันอีกหรือ???