เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส คูคต นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และรองศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันบูรณาการความร่วมมือครอบคลุมด้านการศึกษา ด้านการวิจัยพัฒนา ด้านการฝึกงานของนักศึกษา เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศไทย และสร้างความยั่งยืนให้ระบบรางของประเทศต่อไป โดยมี นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร. ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายการจัดการ ทุนมนุษย์ และองค์กรสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะอาจารย์ และผู้บริหารบริษัทฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าบีทีเอสนับเป็นระบบขนส่งมวลชนที่นอกจากให้บริการที่สะดวกสบาย และมีคุณภาพด้วยมาตรฐานสากล เป็นผู้นำในการให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ ด้วยความเป็นเลิศในการให้บริการแล้ว เรายังให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาความก้าวหน้าทางวิศวกรรมขนส่งระบบราง และศักยภาพของบุคลากรคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง สอดคล้องกับแนวนโยบายพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และ Smart City ของประเทศไทย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล มีวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็น World-Class Engineering และปัจจุบันได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษามาตรฐานโลกจาก Accreditation Board for Engineering and Technology หรือ ABET แห่งสหรัฐอเมริกา ความร่วมมือของสององค์กร ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในครั้งนี้
โดยมีขอบเขตความร่วมมือกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง วิศวกรรมระบบขนส่งทางราง สังคมและเศรษฐกิจของไทย ดังนี้
1. การสนับสนุนวิชาการ แลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยี เพื่อเป็นข้อมูลการสอน และการวิจัยแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. การวิจัยและห้องปฏิบัติการ วิศวะมหิดล และ บริษัทฯ ยินดีที่จะทำวิจัยด้านระบบขนส่งทางรางร่วมกัน พัฒนากรณีศึกษา และแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องปฏิบัติการร่วมกัน
3. โครงการฝึกงานและฝึกภาคปฏิบัติ จะจัดกิจกรรมฝึกงาน และฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษาวิศวะมหิดล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้ก้าวหน้า
4. กิจกรรมอื่น ๆ จะร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาวิศวกรคนรุ่นใหม่และอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง