1 ในนโยบายและผลงานอื้อฉาวที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมต.กระทรวงคมนาคม แห่งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทิ้งเอาไว้ดูต่างหน้า นอกเหนือจากโครงการประมูลจัดหาเอกชนเข้ารับสัมปทานก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้า สายสีส้ม มูลค่ากว่า 1.437 แสนล้านบาท ที่จำเป็นจะต้องสังคายนาใหม่กันยกกระบิ เพื่อดึงเม็ดเงินภาษีของประชาชน เพื่อไม่ให้เหลือบและกลุ่มทุนการเมืองสูบผลประโยชน์ของรัฐและภาษีของประชาชนคนไทยออกไปได้แล้ว.. อีกนโยบายที่จำเป็นจะต้องเร่งสังคายนาเช่นกัน ก็คือ การกำหนดอัตราความเร็วรถยนต์ที่วิ่งบนทางหลวงแผ่นดินจากที่กำหนด 90 กม./ชม. ให้อัพสปีดขึ้นมาเป็น 120 กม./ชม. ที่กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงดีเดย์นำร่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 หวังจะให้เมืองไทยมีถนน “ออโต้บาห์น” แบบยุโรป-เยอรมนีบ้าง
โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง และทางหลวงชนบท บูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ในการปรับปรุงถนนสายหลักและสายรอง ให้สามารถรองรับการใช้ความเร็วตามกฎกระทรวง พ.ศ.2564 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ 10 มีนาคม 2564 กำหนดความเร็วรถบนท้องถนนใหม่ โดยแก้ไขกำหนดความเร็วรถเก๋งวิ่งได้สูงสุด 120 กม./ชม. ขับเลนขวาห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม. รวมทั้งกำหนดความเร็วของรถประเภทต่างๆ รวม 7 ประเภท เช่น รถบรรทุกน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นต้น..
โดยเริ่มดีเดย์โครงการดังกล่าว บนถนนสายหลักหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชียช่วงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ก่อนจะขยายไปยังเส้นทางอื่นๆ ทั้งทางหลวงแผ่นดินสายหลัก และสายรองกระจายไปตามเส้นทางถนนภูมิภาคต่างๆ
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กรมทางหลวงและทางหลวงชนบท ขยายเขตควบคุมความเร็วรถ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ออกไปยังเส้นทางถนนสายหลักและสายรองต่าง ๆ แม้จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้สามารถเดินทางได้อย่างคล่องตัวขึ้น
แต่ในหลายเส้นทางปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นไปในลักษณะ "ลูบหน้าปะจมูก" โดยแท้ เพราะการกำหนดความเร็วตามประกาศทางหลวงฯ ไม่สามารถดำเนินการได้จริง ทั้งจากสภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ความเร็วในระดับดังกล่าว และพฤติกรรมการขับรถของผู้คนที่ยังคงยึดถือคติ “ทำอะไรก็ได้คือไทยแท้” รถบรรทุกยังคงยึดถนนเลนขวาเป็นหลัก
ประกอบกับสภาพของชุมชนโดยรอบพื้นที่ของหลายพื้นที่นั้น ก็ไม่อำนวยให้นำเอากฎกระทรวงดังกล่าวมาประกาศใช้ ด้วยผู้คน 2 ข้างทางยังคงเดินทางข้ามไป-มา ทำให้เส้นทางที่ถูกกำหนดให้เป็นทางพิเศษที่ต้องควบคุมความเร็วถูกรถราที่สัญจรโดยรอบลักลอบสร้างจุดตัด จุด “ยูเทิร์น” และบางพื้นที่ยังมีสัญญาณไฟจราจรมาเป็นอุปสรรคเอาด้วยอีก
จนทำให้นโยบายดังกล่าวกลายเป็น “ออโต้บาห์นแบบไทยๆ” ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้!
นั่นคือ..แม้จะเป็นเขตควบคุมความเร็ว 100-120 กม.ต่อชั่วโมง แต่บรรดาสิงห์รถบรรทุก (เล็ก-บรรทุกหนัก) ยึดครองเป็นเจ้าถนน บ้างก็มีสัญญาณไฟเขียว-ไฟแดง หรือมีจุดกลับรถปรากฏอยู่ให้เห็น จึงทำให้แทนจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้คน ก็กลับกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนหนักเข้าไปอีก
ล่าสุด “เนตรทิพย์ออนไลน์” ส่งทีมลงสำรวจเส้นทางจราจรบนถนน “ออโต้บาห์น” สายสำคัญๆ ตามประกาศกรมทางหลวงที่กำหนดให้ใช้ความเร็วได้ถึง 100-120 กม./ชม. ยังคงพบเห็นข้อบกพร่องสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับปรับปรุงแก้ไข เมื่อเดือนมีนาคม 2564 (ตามภาพประกอบ) หลายประการด้วยกัน*
โดยในส่วนของเส้นทางสายหลัก ทางหลวงหมายเลข 32 สายเอเชียที่มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมความเร็วตามประกาศอยู่หลายช่วงได้พบเห็นความลักลั่นในการบังคับใช้กฏกระทรวงฉบับนี้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากสภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยให้ใช่ความเร็วมาตั้งแต่แรก และแม้จะมีความพยายามปรับปรุงสภาพถนนให้รองรับการใช้ความเร็ว และหลายพื้นที่มีการสร้างจุดกลับยูเทิร์นลอดใต้ถนน แต่ก็ยังคงพบว่าในหลายท้องที่ยังคงมีการปล่อยให้มีการทำทางกลับรถในช่วงพื้นที่ควบคุมฯ และบางช่วงยังมีไฟเขียว-ไฟแดงอยู่ให้เห็น
ยิ่งเส้นทางเข้าจังหวัดสิงห์บุรีนั้น ยังปล่อยให้มีการตั้งด่านตรวจจับความเร็วด้วยอีก โดยรถส่วนใหญ่ที่วิ่งมาจากด่านบางปะอินที่เป็นจุดเริ่มต้นเขตควบคุม ที่แม้จะมีการตั้งเครื่องหมาย และสร้างป้ายดินจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่ากำลังเข้าเขตควบคุมความเร็วตามกฎกระทรวง
แต่ในส่วนของจุดสิ้นสุดเขตควบคุมความเร็วนั้น กลับไม่มีการติดตั้งป้ายใด ๆ ให้ได้สังเกต จึงทำให้รถยนต์ที่ใช้ความเร็วโดยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสล่วงรู้ว่าถึงจุดสิ้นสุดเขตควบคุมความเร็วแล้วหรือยัง ต้องไปวัดดวงเอากับด่านและกล่องตรวจจับความเร็วที่ติดตั้งตรวจจับความเร็วตลอดแนวถนนเส้นนี้ ในช่วงที่สิ้นสุดเขตควบคุมความเร็วฯ
กลายเป็น “กับดัก” ตรวจจับความเร็วที่ทำให้ประชบาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเส้นนี้ถูกจับปรับทั้งขึ้น ทั้งล่อง
_แม้กระทั่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย ที่ทุกภาคส่วนระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานให้ตั้งกองอำนวยการคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรกลับภูมิลำเนา แต่ในส่วนของทางหลวงสิงห์บุรี ก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาตั้งด่านตรวจจับความเร็วกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สวนนโยบายรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด_
ขณะที่เลยพื้นที่สิงห์บุรีเข้าอุทัยธานี และพยุหะคีรี-ก่อนเข้าตัวเมืองนครสวรรค์นั้น แม้จะประกาศให้เป็นเขตควบคุมความเร็วตามกฎกระทรวง แต่ก็ยังคงปล่อยให้มีจุดกลับรถหลายจุด และสัญญาณไฟเขียว-ไฟแดงให้เห็นอยู่ประปรายหลายจุด กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุไปโดยปริยาย
ส่วนเส้นทางสายใต้ถนนเพชรเกษม ช่วงชะอำ-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ก็เช่นกัน ในเขตพื้นที่ควบคุมความเร็วตามประกาศกรมทางหลวง ก็ยังคงพบเห็นการเปิดจุดกลับรถ ”ยูเทิร์น” ในเขตที่วิ่งผ่านเมือง หรือบายพาสให้เห็นอยู่เนืองๆ จนกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงได้
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่านโยบายเพิ่มความเร็วบนถนนหลวง จึงกลายเป็น”มหกรรมปาหี่” ที่เอาใจนักการเมืองเท่านั้น และหลายพื้นที่ที่ประกาศให่เห็นทางหลวงพิเศษที่สามารถใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม.ได้ แต่ก็เป็นไปในลักษณะลูบหน้าปะจมูก ทำอะไรก็ได้คือไทยแท้ที่ผู้ขับรถหรือใช้รถใช้ถนนยังคงต้องระแวดระวังอันตรายที่ค่าดไม่ถึงเองวันยังค่ำ
จึงสมควรที่ รมต.คมนาคมคนใหม่ ต้องกลับไปทบทวนนโยนบายนี้เสียใหม่ หาไม่แล้วแทนที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่กลับเป็น "ดาบ 2 คมที่กลายมาเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการตั้งด่านรีดไถประชาชนผู้ใช้รถ" ที่ไม่มีโอกาสจะล่วงรู้เลยว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงควบคุมความเร็วรถตามประกาศกรมทางหลวงแล้ว จุดสิ้นสุดจะอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีป้ายสังเกตใดๆ เอาไว้
หากจะยังคงดำเนินนโยบายนี้ต่อก็สมควรจะต้องจัดทำป้ายประกาศเริ่มต้น และสิ้นสุดที่ชัดเจนให้เห็น ไม่ใช่ทำแบบเนีบนๆ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ กลายเป็นการ “ขุดหลุมพราง” ให้เจ้าหน้าที่ฉวยโอกาสรีดค่าปรับเอากับประชาชนทั้งขึ้น ทั้งล่อง
“ออโต้บานแบบไทยๆ นั่นคือ ถนนเส้นทางสายใต้ ช่วงระหว่างชะอำ-เพชรบุรี ทั้งที่ความจริง ถนนเส้นทางนี้วิ่งผ่านชุมชน เมืองแท้ๆ ไม่มีทางคู่ขนาน แถมยังมีจุดกลับรถชาวบ้านเป็นระยะๆ แต่ไม่รู้อีท่าไหน กลับดันทุรังอุตส่าห์กำหนดประกาศเป็นเขตควบคุมความเร็วที่ 100-120 กม.”
ถนนเส้นทางนี้เป็นไปได้ว่า วันดีคืนดีอาจจะสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก หากเป็นไปได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการทบทวนปรับแก้ด่วนที่สุด
กำหนดจุดเริ่มต้น ทำป้ายดิติทัลเริ่มเจ้าสู่ถนนออโตบาห์นชัดเจน แต่จุดสิ้นสุดกลับไม่มีการทำเครื่องหมายใดๆแสดงเอาไว้ต้องให้ผู้ขับรถวัดดวงกันเอาเองว่า จะเจออะไรแต่ส่วนใหญ่ล้วนตกหลุมพรางกลายเป็นช่องทางทำอาหารรับประทานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไปแล้ว
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับสวนทางกับนโยบาย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม ที่กล่าวย้ำว่า “สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย” ใช่หรือไม่?
หมายเหตุ:อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เนตรทิพย์:Special Report
แกะรอยปาหี่ “ออโตบาห์นไทยแลนด์”... บทสะท้อนความล้มเหลวงานสร้างภาพ!
http://www.natethip.com/news.php?id=5502