ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการที่มิจฉาชีพแอบอ้างส่ง SMS ธนาคารกสิกรไทยให้กับลูกค้าธนาคารมากกว่า 20,000 บัญชี และใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกลโอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า ทำให้สูญเสียเงินประมาณ 200 ล้านบาทนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ธนาคารกสิกร AIS และ True ได้ร่วมกันทลายรังแก๊งสวมรอยธนาคารกสิกรไทยส่ง SMS หลอกดูดเงินโดยมีผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 คน พร้อมของกลางรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ก่อเหตุจำนวน 5 ชุด
พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดใช้เครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์ปลอมส่ง SMS ไปถึงลูกค้าธนาคาร ทำให้ลูกค้าธนาคารและดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และผู้เสียหายหลงเชื่อทำให้เกิดความเสียหายขึ้น
ผู้เสียหาย กล่าวว่า เมื่อได้รับ SMS ตนเองหลงเชื่อและกดดาวน์โหลดข้อมูล และมิจฉาชีพใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล ในการถอนเงินจากบัญชี ทำให้สูญเสียเงินมากกว่า 100,000 บาท ตนเองรู้ตัวว่าโดนมิจฉาชีพหลอก เนื่องจากไม่สามารถเข้าใช้บัญชีธนาคารได้ตามปกติ โดยบัญชีธนาคารที่ได้รับความเสียหายคือธนาคารกสิกรไทย
ทั้งนี้ มิจฉาชีพจะนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ซึ่งใช้รหัสที่เรียกว่าปลากระเบน ไว้ในรถยนต์ จากนั้นมิจฉาชีพจะขับรถไปยังย่านชุมชนแล้วส่งสัญญาณ SMS ปลอมไปยังประชาชน เพื่อให้เข้าใจผิดว่าบัญชีธนาคารของตนเองมีปัญหาและให้กดลิงก์อัพเดทและดาวน์โหลดข้อมูลของตนเอง ในระหว่างนั้น มิจฉาชีพจะใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล ในการควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อเพื่อทำการถ่ายโอนหรือถอนเงินจากบัญชีของเหยื่อทำให้เกิดความเสียขึ้น
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางด้านการเงินที่ผ่านมา ดีอีเอสมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน โดยได้ทำความร่วมมือกับสมาคมธนาคาร โดยทุกธนาคารมีการแจ้งเตือนภัยออนไลน์และข่าวปลอมให้กับลูกค้าธนาคารผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารและแอปพลิเคชันเป๋าตัง
“สำหรับผู้กระทำความผิดไม่เพียงเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม เท่านั้น แต่ยังมีความผิดตาม กฏหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่สูง และจะต้องดำเนินการและดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งอาจจะขยายผลในเรื่องเงินที่ได้รับจากกระบวนการต่างๆ ไปยังบุคคลข้างเคียง ภายหลังจากที่ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นมา มีส่วนสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพจัดหาซิมม้าและบัญชีม้าได้ยากขึ้น มิจฉาชีพต้องเปลี่ยนวิธีที่ใช้ในการหลอกลวงประชาชน ทำให้มีโอกาสจับคนร้ายในประเทศได้มากขึ้น” ปลัดดีอีเอส กล่าว