การก้าวรุกของพรรคก้าวไกล ต่อการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อแก้ลำจากการที่ “แคนดิเดท” นายกฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูก ส.ว.บล็อคโหวต ไม่ผ่านความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้เส้นทางสู่ทำเนียบของนายพิธาสะดุดลง จึงหวังจะอาศัยนาทีนี้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ “ปิดสวิตช์” ส.ว. ในการร่วมโหวตให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีไปเสียเลย
แต่การเลือกเส้นทางดังกล่าวนั้น หลายฝ่ายได้แต่ส่ายหน้าว่า “หืดจับ” ยิ่งกว่าเก่าและเป็นภารกิจที่กล่าวได้ว่ายิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา..
เพราะตามขั้นตอนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 นั้น แม้จะรวบรัดดำเนินการแบบ 3 วาระรวด แต่ขั้นตอนการพิจารณานั้นกำหนดไว้ดังนี้
1. วาระแรก “รับหลักการ” ที่นอกจากต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้ ยังต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ที่มีคือ 84 เสียง (มากกว่าการแสวงหาเสียงสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ เสียอีก)
2. วาระที่สอง วาระพิจารณา ที่แม้กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก หรือ 376 เสียงอยู่ดี และหากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
3. วาระที่สาม วาระการลงมติ ที่นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียงแล้ว ยังต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คนแล้ว (ที่ยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ในจำนวนนี้ ยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานผู้แทนราษ ฏรหรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน
ปัญหาก็คือ ณ เวลานี้พรรคการเมืองใดคือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และพรรคใดคือพรรคฝ่ายค้าน ในเมื่อการฟอร์มรัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่รู้เลยว่าพรรคใดจะได้ร่วมรัฐบาลและพรรคใดจะถูกเตะไปเป็นฝ่ายค้าน
ด้วยเหตุนี้ หนทางการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจกล่าวได้ว่ายิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา”
เพราะหนทางจะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.นั้น แทบจะเป็นศูนย์(0) ใครจะบ้าปิดสวิตช์ ยกเลิกอำนาจที่ตนเองมี!