ขณะที่ถนนทุกสายกำลังลุ้นสุดขั้วกับโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่จะลงเอยอย่างไร หลังจากแคนดิเดทนายกฯ อย่าง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ที่แม้จะนำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งทั่วไปมาอย่างพลิกความคาดหมาย แต่กลับไม่สามารถจะ “หักด่าน” ดึงเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้
แม้เจ้าตัวจะยืนยัน นั่งยันจะขอลุ้นโหวตอีกเฮือกในวันที่ 19 ก.ค. แต่ก็ถูก ส.ว.ออกมา “ตีปลาหน้าไซ” ญัตติการเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯ กรณีนายพิธา นั้นตกไปแล้ว ไม่สามารถจะเสนอกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ได้อีก จึงยิ่งทำให้เส้นทางสู่ทำเนียบของ “นายพิธา” เป็นยิ่งกว่าการ “เข็นครกขึ้นภู” เข้าไปอีก!!!
เช่นเดียวกับโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่ากว่า 1.427 แสนล้าน ของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ที่ฝ่ายบริหาร รฟม. ยังคงมีความพยายามจะ “เข็นครกขึ้นเขา” ให้กระทรวงคมนาคมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบผลการประกวดราคา เมื่อ 8 ก.ย. 65 หรือเกือบขวบปีมาแล้ว ที่ประกาศให้ “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” หรือ BEM ในเครือ “กลุ่ม ช การช่าง” เป็นผู้ชนะประมูล เพราะเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐสุทธิต่ำสุด 78,287 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติไว้ที่ 91,983 ล้านบาท
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์จากทั่วทุกสารทิศ เบื้องหลังการประมูลโครงการนี้คือ “มหกรรมปาหี่” ปล้นสะดมภาษีประชาชน ที่มี “ส่วนต่าง” ราคาที่ภาครัฐต้องจ่ายให้แก่บริษัทเอกชนที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคม “อุปโลกน์” ว่า เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้สูงกว่า 68,432 ล้านบาท และอาจมากกว่า 1.5 แสนล้านบาทด้วยซ้ำ หากพิจารณารวมวงเงินค่า “ผลประโยชน์ตอบแทน” หรือค่าสัมปทานที่รัฐควรจะได้รับจากโครงการนี้
แม้จะมีความพยายามที่จะผลักดันให้กระทรวงคมนาคมกระเตงผลประกวดราคา “ทิ้งทวน” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่า มีการดำเนินการจัดประมูลอย่างโปร่งใส เปิดกว้างให้มีการแข่งขัน ไม่มีการกีดกันเอกชนรายใดเข้าร่วม ขณะที่ผลคดีความต่างๆ ที่ รฟม. ถูกฟ้องคาราคาซังอยู่นับ10 คดีนั้น ก็ถูก “เคลียร์หน้าเสื่อ” ไปหมดแล้ว โดยเฉพาะที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด ที่มีมติ 27 ต่อ 23 เสียง “หักดิบ” คำพิพากษาของศาลปกครองกลางก่อนหน้าที่เห็นว่า การเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ
แต่ก็หาได้ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าต่อไปได้
ล่าสุด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้นัดพิจารณาคดีที่ BTSC ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ต่อการกำหนดเงื่อนไขประกวดราคา (RFP) ครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็น 1 ใน 3 คดีความฟ้องร้องที่ยังคงคาราคาซังอยู่ โดยมีรายงานสะพัดออกมาว่า มีแนวโน้มที่ศาลปกครองกลางจะ “ยกคำร้อง” ตามรอยที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้า โดยเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขประกวดราคาครั้งใหม่ ไม่เป็นการกีดกันการแข่งขัน เพราะยังคงมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมซื้อซองประมูลนับ 10 ราย และในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นก็ไม่มีเอกชนรายใดโต้แย้ง
คงหวังจะเปิดทางให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก กระเตงผลประกวดราคาที่ค้างเติ่งอยู่นี้เสนอต่อรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่เพื่อส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบกันอีกคำรภ
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลปกครองสูงสุด ออกหน้ารับรองการแก้ไขเกณฑ์ประมูลในครั้งก่อนหน้า รวมทั้งยังคงมีความพยายามจะให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไปในทิศทางเดียวกันกับ รฟม. และคณะกรรมการในการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลในครั้งล่าสุด ซึ่งเท่ากับเป็นการเอา “เครดิต” องค์กรของศาลเข้าไปแบกรับหรือรับรองการประกวดาราคาครั้งใหม่ ที่ รฟม.ดำเนินการไปแล้ว โดยมีวงเงินชดเชยที่เอกชนผู้ชนะประมูลจะขอชดเชยจากรัฐวงเงิน 78,2587 ล้านบาทนั้น
หมิ่นเหม่ที่จะสร้างความ “ด่างพร้อย” ให้แก่ศาลโดยตรง ไม่ต่างจาก “อุจจาระเปื้อนมือ” !!!
อย่างที่ทุกฝ่ายต่างก็ทราบกันดีว่า หากรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมีพรรคก้าวไกล (กก.) หรือเพื่อไทย (พท.) เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ทั้งสองพรรคต่างก็ประกาศจุดยืนชัดเจนไปแล้วว่า จะยกเลิกการประกวดราคาสุดอื้อฉาวก่อนหน้านี้ และจะดำเนินการเปิดประมูลใหม่ โดยจะเปิดทางให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ให้บริการรถไฟฟ้าของไทยทั้ง 2 ราย คือ BEM และ BTS เข้าร่วมประมูลแน่ (ขณะที่กลุ่ม ITD นั้นไม่น่าจะผ่านเกณฑ์ประมูลอยู่แล้ว แม้จะดึงเอา Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้เข้าร่วม ก็ยากที่กลุ่มดังกล่าวจะผ่านเกณฑ์ประมูล)
แน่นอนว่า การประกวดราคาครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น กลุ่ม BRS ที่มี BTS เป็นแกนนำที่พกเอาความ “คับแค้น” จากการถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลในครั้งที่ผ่านมา คงจะจัดหนัก “ทุบราคา” การประมูลครั้งนี้ ยิ่งกว่าการประมูลรถไฟฟ้า สายสีเหลือง และสีชมพู ที่บีทีเอสเคยกวาดสัมปทานทั้งสองโครงการมาแล้วแน่ (สายสีเหลืองกลุ่ม BTS ขอรับเงินสนับสนุนน้อยกว่า BEM 1.35 แสนล้าน ส่วนสายสีชมพูขอเงินสนับสนุนจากรัฐน้อยกว่า 1.24 แสนล้าน รวม 2 โครงการต่ำกว่าถึง 2.6 แสนล้านบาท)
โดยที่วงเงินขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐสุทธิที่กลุ่มเคยยื่นข้อเสนอไว้ก่อนหน้า 9,600 ล้านบาทเศษนั้น เผลอ ๆ ในการประมูลครั้งใหม่นี้ อาจไม่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐสักบาทเดียวเสียด้วยซ้ำ หรือต่อให้วงเงินขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในการประมูลครั้งใหม่ต่ำกว่าเดิมแค่ 40,000-50,000 ล้านบาท
สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงขบวนการฮั้วประมูล และมหกรรมปาหี่ประมูลสายสีส้มที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการไป เพราะเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไม่รู้จะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้อีกกี่สาย ? ไม่เพียงจะเป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาลชุดก่อนที่กำลัง “สุมหัวปล้น” เม็ดเงินภาษีประชาชน ที่หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาช้าอีกเพียงก้าวเดียว ประเทศชาติจะสูญเสียเม็ดเงินภาษีออกไปให้กลุ่มทุนการเมืองสวาปามกันนับหมื่น หรือหลายหมื่นล้านบาทเท่านั้น
แม้แต่ศาลปกครองหรือศาลปกครองสูงสุดที่มีส่วนในการออกหน้ารับ และมีคำพิพากษาว่า สิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม.ดำเนินการไปก่อนหน้าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น มันจะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากการนำเอาองค์กรหรือสถาบันศาลไปการันตีขบวนการโกงกินงบประมาณแผ่นดินดี ๆ นี่เอง
แล้วต่อไป Creditability ของศาลจะไปหลงเหลืออะไร
จะออกตัวอ้างว่าศาลไม่รับรู้ผลการประมูลหรือผลประกวดราคาใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างพิจารณาจากเนื้อหาและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น คงคงยากที่จะอรรถาธิบายต่อสังคม เพราะโครงการประกวดราคาดังกล่าวนั้นอื้อฉาวเสียขนาดนี้ สื่อทุกแพลตฟอร์มมีการนำเสนอกันอย่างครึกโครมต่อเนื่องกันเป็นปี ๆ มีหริอที่จะไม่ยินดี ยินร้ายหรือรับรู้ข้อมูลอะไรเลย
จริงไม่จริง ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดที่เคารพ !!!