ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องโดยด่วนจากมติ ครม. ดังกล่าว ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 มีการเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล แต่ทั้งนี้การกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลังดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน - ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าว โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566