จ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าอีกหน !
กับเรื่องที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาจุดพลุจะให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เทเลคอม เข้าร่วมประมูล 5จี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดประมูลในวันที่ 16 ก.พ.63 จนทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาร้อนฉ่า 3 ค่ายมือถือต่างดาหน้าออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกันพร้อมหน้า
เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดการบิดเบือนตลาดจนทำเอาเส้นทางการลงทุน และพัฒนา 5จีของประเทศสะดุดตอ!
แม้ รมว.ดีอีเอส จะออกมาแก้เกี้ยวว่า การเข้าร่วมประมูล 5จี ของทีโอทีและแคทนั้น ไม่ได้ต้องการเข้ามาป่วนตลาดหรือแข่งขันราคา แค่ต้องการจะเอาคลื่น 5จี ออกมาให้บริการเชิงสังคมในพื้นที่ห่างไกลที่บริษัทสื่อสารโดยทั่วไปไม่สนใจเข้าไปลงทุน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงบริการ 5จี
พร้อมกับสักยอกว่า หาก 3 ค่ายมือถือสามารถนำ 5จี มาให้บริการฟรีสำหรับระบบการรักษาทางไกล และการให้บริการสังคม โดยเฉพาะให้คนไทยที่มีรายได้น้อยได้ใช้ฟรี ก็พร้อมสั่งให้ทีโอทีและแคท ถอนตัวไม่เข้าร่วมประมูล แต่เมื่อทำไม่ได้ตนก็ต้องสนับสนุนให้ทีโอทีและแคท เข้าร่วม เพราะรัฐบาลต้องดูแลประชาชนทุกคนให้ได้รับสิทธิ์บริการเท่าเทียม “หากวันนี้มีมาตรา 44 ผมจะเป็นคนเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อขอแบ่งคลื่นความถี่มาให้บริการภาคสังคม เพราะไม่มีหน่วยงานใด กล้าที่จะลงทุนให้บริการ เพราะไม่มีกำไร ไม่คุ้มทุน เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐจึงต้องเป็นผู้ลงทุน”
เห็นท่าทีจุดยืนของ รมว.ดีอีเอส ข้างต้นแล้ว ก็ยิ่งทำเอาวงการโทรคมนาคมระส่ำหนักเข้าไปอีก เพราะไม่แน่ใจว่ากระทรวงดีอีเอสกำลังเข้าใจอะไรผิดไปหรือไม่ ถึงมองว่าการเอาคลื่น 5จี ออกไปลงทุนให้บริการในพื้นที่ห่างไกล ในพื้นที่ชนบทหรือให้บริการเชิงสังคมนั้นคือภารกิจที่ “ดีอีเอส” จะต้องลงไปโม่แป้งทำให้ได้
แล้วจะมี “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ “กองทุน USO ของ กสทช.” ไว้ทำไม? เพราะหากดีอีเอสกระโดดลงมาโม่แป้งภารกิจดังกล่าวเบ็ดเสร็จได้ ก็ไม่ต้องมีกองทุน USO ของ กสทช. แล้วอย่างนั้นหรือ หรือไม่ก็ต้องยกเลิกการจัดเก็บเงินกองทุนดังกล่าวที่ต้องให้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจ่ายเงินเข้ากองทุน ในอัตรา 3-4% ตกปีละนับ 10,000 ล้านไปเลย เพราะมีกระทรวงดีอีเอสทำให้อยู่แล้ว
แต่ข้อเท็จจริงนั้นมันหนังคนละม้วน!
เพราะในข้อเท็จจริงนั้นการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล จะในชนบท หรือพื้นที่ชายขอบ หลังเขาอะไรก็แล้วแต่นั้น ภาครัฐคือ กสทช. เขามีกองทุน USO ที่รีดเงินค่าธรรมเนียมมาจากบริษัทสื่อสารที่รับใบอนุญาตมาดำเนินการภารกิจตรงนี้อยู่แล้ว ไม่งั้นจะมีโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน เน็ตชายขอบ เน็ตหลังเขาที่กระทรวงดีอีเอสเองนั่นแหล่ะรับหน้าเสื่อดำเนินการอยู่ทำไม ซึ่งเม็ดเงินที่ดำเนินโครงการดังกล่าวก็เอามาจากค่าธรรมเนียมที่รีดมาจากบริษัทสื่อสารนั่นแหล่ะ
การดั้นเมฆจะให้ทีโอทีและแคท เข้ามาลุยกำถั่วประมูล 5จี ไม่ว่าจะผนึกกำลังกันเข้าประมูลหรือแยกกันประมูลเพราะเส้นทางการควบรวมกิจการยังยักแย่ยักยันไม่รู้จะไปเสร็จกัน พ.ศ.ไหนนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรมันย่อมส่งผลกระทบต่อ มาสเตอร์แพลนของการลงทุนและพัฒนา 5จี ของประเทศในภาพรวมแน่ เผลอๆ จะ “พังพาบ” เอาด้วยซ้ำ
ลำพังแค่ที่ กสทช. ป่าวประกาศจะเอาคลื่นหลายย่านความถี่ออกมาประมูลแบบ “มัลติแบนด์” ทุกค่ายมือถือก็ส่ายหน้าเกินกำลังจะเสนอราคากันอยู่แล้ว เพราะต่อให้ได้คลื่นฟรีไปทั้งหมดก็ไม่รู้จะปัญญาระดมทุน หรือหอบเงินมาลงทุนพร้อมกันได้หรือไม่ เอาเป็นว่าหากค่ายมือถือหนึ่งได้คลื่นทั้ง 1800, 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ไปสัก 10 ใบอนุญาต เอาแค่ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ต้องจ่าย 20,000-30,000 ล้านบาท ก็คงหืดจับพอดี
แต่การพัฒนาแจ้งเกิด 5จี จะเกิดขึ้นได้มันอยู่ที่การจะต้องลงทุนในทุกคลื่นพร้อมกันไป ซึ่งต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้าน ในขณะที่ทุกค่ายมือถือเวลานี้ต่างก็อยู่ในสภาพ “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” ไอ้ที่แต่ละค่ายได้ลงทุนระบบ 3 และ 4จี ไปก่อนหน้าในระดับ 4-5 หมื่นล้าน หรือบางค่ายเฉียดแสนล้านบาทนั้นก็เต็มกลืนกันอยู่แล้ว เพราะยังไม่ทันได้ถอนทุนคืนใดๆ หากจะต้องไประดมทุนกันอีกก้อนใหญ่มาลุย 5จี ก็มีหวังสถาบันการเงินและแหล่งเงินที่ลงทุนให้ไปนั่นแหล่ะจะหน้ามืดซะเอง
ยิ่งบางค่ายที่ยังไม่เคยได้จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นให้ชื่นสะดือแดมาก่อนเลยนั้น แค่มีข่าวว่าจะต้องเพิ่มทุนอีกนับ 10,000 ล้าน เพื่อลุย 5จีก็ทำเอานักลงทุนขวัญหนีดีฝ่อ จนผู้บริหารต้องออกมายืนยัน นั่งยัน และถึงขั้นตีลังกายันว่า ยังไม่คิดจะเพิ่มทุนเขย่าขวัญผู้ถือหุ้นในเวลานี้
ขืนปล่อยให้กระทรวงดีอีเอส ควง “ทีโอที-แคท” เข้ามาป่วนการประมูล 5 จี ช่วงชิงคลื่นความถี่บางคลื่นออกไปเล่นกำถั่วก็มีหวังเส้นทางการลงทุนและพัฒนา 5จี ของประเทศมีสิทธิ์ "ม้วนเสื่อ" กันก็งานนี้ เพราะหากสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้คลื่นไปนอนกอดเอาไว้ โดยหวังแค่จะเอาไปลงทุนให้บริการเชิงสังคม หรือให้บริการ 5จี แบบฟรี ๆ เป็น 1 ในนโยบายประชารัฐแล้ว คลื่นที่เหลืออยู่ซึ่งจะเกิดปัญหาฟันหลอไม่ครบลูป ทำให้ไม่สามารถจะลงทุนแบบปูพรมเชื่อมโยงกันได้ สุดท้ายกรรมก็จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้บริการเองนั่นแหล่ะ
ในส่วนของ กสทช. ที่ต้องกำกับและจัดทัพประมูล 5จีนั้น หากไม่สามารถคุมเกมเล่นเอาเถิดของดีอีเอสที่กำลังดั้นเมฆจะเอาคลื่น 5จี ไปเล่นขายของกันแบบเด็กๆ แล้ว ก็ให้ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการประมูล 4จี บนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในอดีตเมื่อปี 2558 ที่ กสทช. ปล่อยให้บริษัทสื่อสารโนเนมเข้ามาเล่นเอาเกิดป่วนการประมูล จนทำเอาประเทศไทยเกือบตกขบวน 4จีไปหนแล้ว ดีที่ในเวลานั้นยังขอให้นายกฯ ลุงตู่ ใช้อำนาจพิเศษของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่าทางตันปัญหาไปให้ได้ แต่รัฐบาลใหม่เวลานี้ อย่าลืมว่าไร้ซึ่งอำนาจพิเศษที่ว่านั้นแล้ว
ขืนปล่อยให้เกิดความวิบัติซ้ำสอง ไม่เพียงเส้นทางการพัฒนา 5จี ของประเทศจะพังทลาย สุดท้ายตัวองค์กร กสทช.เองนั่นแหล่ะก็จะไม่มีที่ยืนเอา!!!
และสำหรับเจ้ากระทรวง “ดีอีเอส” ที่คงเห็นว่ากระทรวงการคลังเขามีโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เกษตรก็มีหมอนประชารัฐตั้ง 30 ล้านใบ สำนักนายกฯ รึก็จัดถนนคนเดิน เลยอยากจะโม่แป้งนโยบาย “5จี ฟรีทั้งประเทศ” เกาะขบวนรถไฟสายประชารัฐกับเขาบ้างนั้น ก็สู้ลงไปล้วงลูกเร่งโครงการประชารัฐทั้งหลายที่ดีอีเอสรับหน้าเสื่อดำเนินการอยู่ แต่ยังไปไม่ถึงไหนจะดีกว่าไหม ทั้งอินเตอร์เน็ตประชารัฐ อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน หรือแม้แต่เน็ตชายขอบ ที่ทีโอทีดอดไปรับจ็อบติดตั้งแล้วพังพาบ จนป่านนี้ยังยักแย่ยักยันไม่ไปไหน
ดีกว่าจะมาลากสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารมาป่วนนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีบนคลื่น 5จี จนพังพาบกันทั้งประเทศ หรือเพราะเห็นว่าผลงานตัวเองยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมจนนักข่าวทำเนียบเมินตั้งฉายาเลยคิดจะชูนโยบาย "ประชานิยม 5จี ฟรีทั้งประเทศ" นี่แหล่ะเป็นผลงานชิ้นโบแดง เผื่อติดทำเนียบกับเขาบ้าง !!!