รายงานข่าวระบุว่า ”กิตติเดช ฉันทังกูล” ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่ข้อมูลในหัวข้อ ”มีเงินไหลออกนอกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายปีละ 4.8 แสนล้านบาท” ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจในการแกะรอยเส้นทาง ”เงินบาป” เป็นอย่างยิ่ง..
โดยระบุว่า..ผู้สื่อข่าวที่ติดตาม/สอบถามเรื่อง "4 แบงค์ไทย เอี่ยวโยกย้ายเงินข้ามชาติผิดกฎหมาย" ขอให้อ่านบทความของคุณกิตติเดช ฉันทังกูร ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ดังนี้ครับ
..........
มีการขนเงินออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย มากถึงปีละ 4.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเงินเหล่านี้มีทั้งที่มาจากการคอร์รัปชัน ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ธุรกิจที่หลีกเลี่ยงภาษี การฉ้อโกง และการก่อการร้าย เป็นต้น
บทความนี้จะไขข้อมูลให้คุณทราบ....
...........
“กระแสเงินโกง -เส้นทางไหลของเงินบาป : โกงแล้วไปไหน?” โดย กิตติเดช ฉันทังกูล
เคยสงสัยไหมครับ ว่าเงินที่โกงประชาชนมาแล้วขนย้ายไปไหน และขนไปได้อย่างไรในเมื่อเรามีหน่วยงานกำกับดูแลมากมาย?
ตัวอย่างล่าสุดขบวนการขนเงินแชร์ลูกโซ่ที่กำลังโด่งดัง ย้อนไปถึงนักธุรกิจและนักการเมืองหนีคดีไปอาศัยในต่างประเทศอย่างสุขสบายนั้น พบว่า คนเหล่านี้ไม่ได้จากประเทศไปแค่เสื่อผืนหมอนใบ แต่ขนเงินสดนับล้านๆ บาท ใส่กระเป๋าขึ้นเครื่องบินเช่าเหมา การขนเงินสดออกต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำไม่ยากในสังคมไทยไปเสียแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นในใจใครหลายคน เจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจไม่พบได้อย่างไร ขนาดระเบิดยังสแกนเจอ ไฉนเลย เงินสดเป็นกองกลับตรวจไม่พบ น่าประหลาดใจจริงๆ
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงที่เดียว แต่กำลังสะท้อนปัญหาใหญ่ของระบบการเงินของโลกที่เชื่อมต่อไร้พรมแดน กิจกรรมโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจึงเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
จากผลวิจัยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 – 2556 ของสถาบัน Global Financial Integrity (GFI) พบว่า มูลค่ารวมในระหว่าง 10 ปี มีกระแสเงินผิดกฎหมายทั่วโลกที่ไหลเวียนมีอยู่ราว 7.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตลอด 10 ปีนี้ กระแสเงินโกงเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.4% เฉพาะปี 2556 ปีเดียวที่ทำยอดสูงสุดที่เกือบ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนของปัญหานี้?
จากข้อมูลที่ปรากฎในรายงานของ GFI ประมาณว่า มีเงินไหลออกนอกประเทศในปี 2554 ราว 29,114 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2557 พบว่ามีเงินไหลออกนอกประเทศราว 17,368 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมสองปีมีเงินไหลออกนอกประเทศไปรวมกันคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท !!
เงินจำนวนนี้ถ้านำไปลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงน่าจะได้อีก 2 เส้นทางสบายๆ !
ส่วนจุดหมายปลายทางการขนเงินออกนอกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมักไหลไปจบที่ประเทศ Tax heaven หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศพัฒนาแล้วในเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่า ยอดกระแสเงินโกงจะสะพัดสูงขนาดนั้นหรือ ที่จริงอาจจะประเมินได้ต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง เพราะการใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศจากหลายแหล่งมาเปรียบเทียบอาจมีข้อจำกัด แต่ก็พอจะให้ภาพคราวๆ ได้ว่า เงินผิดกฎหมายทั้งโลกมีประมาณเท่าไร
ในสากลโลกการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายมีชื่อเรียกที่เข้าใจตรงกัน คือ Illicit fund flow (IFF) นิยามของคำนี้หมายความว่า เงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายและถูกเคลื่อนย้ายผ่านเข้า-ออกประเทศอย่างผิดกฎหมาย เงินเหล่านี้ไม่ถูกเก็บภาษี เพราะรัฐไม่สามารถรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น และมักนำใช้ไปสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมาย ตั้งแต่ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด อาวุธสงครามเถื่อน ซากสัตว์ป่า เงินสนับสนุนก่อการร้าย เงินฉ้อโกง และเงินสินบนทั้งที่เอาไปจ่ายให้นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เงินเหล่านี้ ถือเป็นแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่พรรคการเมืองจะรับไม่ได้
และเมื่อได้สินบนแล้วก็เอาไปยักย้ายเก็บต่างประเทศ หรือบางกรณีมีบริการพิเศษการจ่ายสินบนจะเกิดขึ้นในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขนด้วยลัง ใส่รถตู้เก็บในตู้เสื้อผ้าหรือเสี่ยงถูกปล้น
อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนเงินคอร์รัปชันที่ไหลเวียนใน IFF อาจจะไม่สามารถระบุชัดเจนว่า มีสัดส่วนเท่าไร แต่จากตัวเลขประมาณการเงินผิดกฎหมายที่ไหลออกนอกประเทศนั้นยังคงเก็บไว้ภายนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการกระทำผิด รวมถึงนำมาใช้จ่ายเป็นเงินสินบนหรืออาจถูกใช้เป็นเงินสนับสนุนพรรคการเมืองโดยไม่ชอบผ่านเงินบริจาคก็เป็นได้
องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (TI) ออกรายงานคำถามชวนคิดต่อว่า การขนย้ายเงินออกนอกประเทศด้วยวิธีการใด ?
วิธีขนเงินออกต่างประเทศสุดคลาสสิค คือ ขนเงินสดใส่กระเป๋าเดินทาง พกขึ้นเครื่องบิน วิธีการนี้น่าสังเกตตรงที่ เจ้าหน้าที่สแกนตรวจกระเป๋าที่สนามบินตรวจไม่พบได้อย่างไร หรือ เงินสดที่ได้มาจากการโกงจะพรางตาผู้คนได้ รวมทั้งเครื่องสแกนทุกยี่ห้อ ถ้าขนหนีขึ้นเครื่องด้วยบัตรโดยสารชั้นเฟิร์สคลาสคงน่าจะขนได้ 30-50 ล้านบาท
หากลูกเรือหรือใครเคยเจอช่วยแชร์ประสบการณ์หรือเขียนรีวิวลงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
หรือเช่าเครื่องเหมาลำบินไปลงปลายทางไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็จะขนได้มากเท่าที่ต้องการ
ส่วนอีกวิธีอาศัยกลไกในระบบการเงินช่วย โดยใช้วิธีการ Trade Misinvoicing หรือการแจ้งหนี้ทางการค้าไม่ตรงกับความจริง หรือระบุราคาสูงเกินกว่าราคาตลาดให้มาก มักเอาใช้ทุจริตเงินในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐกับเอกชนที่เป็นนายหน้า ตัวกลางการค้า จากนั้นคู่สัญญาตัวกลางจะนำเอาเงินส่วนเกินถ่ายเทเงินออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย และเลี่ยงการถูกเก็บภาษี โดยผ่านบริษัทบังหน้า (Shell Company) เป็นตัวปกปิดผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง
ในอีกด้านหนึ่งเครื่องมือนี้ใช้แพร่หลายมากในกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อจุดประสงค์ลดต้นทุนทางการเงินและลดการเสียภาษีซ้ำซ้อนของบริษัทข้ามชาติ แต่กลายเป็นของดีสำหรับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐแอบแฝงช่องทางนี้ช่วยยักย้ายถ่ายเงินคอร์รัปชันหลบออกนอกประเทศได้สะดวก ลดภาระหิ้วเงินสด แถมดีไม่ดีกฎหมายในประเทศของตัวเองอาจจะเอาผิดไม่ได้หรือไล่จับยาก ตรงนี้คือช่องโหว่ใหญ่
รายงานของ GFI ประมาณการณ์ว่าในช่วง 10 ปี (2549-2558) Trade Misinvoicing มีมูลค่าเฉลี่ย 25 % ของยอดการค้ารวมของประเทศกำลังพัฒนา !!
บริษัทบังหน้าพวกนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าน่าจะเปิดได้ง่ายตามประเทศหมู่เกาะสวรรค์เลี่ยงภาษี แต่เปล่าเลย ประเทศไหนในโลกก็ทำได้ แถมบริษัทเหล่านี้เมื่อถูกขอหลักฐานยืนยันตัวตนมักจะอ้างว่าบริษัทตนเป็นคู่ค้ากับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลที่บริษัทพวกนี้นำมาอ้างมักเป็นรัฐบาลของประเทศที่มีค่า Corruption perception index ต่ำทั้งสิ้น
ปริมาณเงินไหลออกแบบผิดกฎหมายด้วยวิธีการออกใบแจ้งหนี้เท็จของไทย เมื่อดูข้อมูลสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2523-2543 พบว่า มีเม็ดเงินรวมภายใน 20 ปีนี้ ราว 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายงานข้อมูลสถิติล่าสุดของ GFI ที่รวบรวมตัวเลขประมาณการ เผยว่าปี 2558 เงินผิดกฎหมายของประเทศไทยที่มาจากวิธีการออกใบแจ้งหนี้เท็จที่ไหลออกนอกประเทศ อาจสูงถึง 14,725 ล้านเหรียญ ส่วนข้อมูล 2559-2562 จะเป็นเท่าไรลองทายกันดู
เงินจำนวนมากขนาดนี้ไหลออกนอกประเทศแล้วไปเก็บไว้ที่ไหน? คำตอบคือ Offshore banking กล่าวคือ บรรดานักคอร์รัปชันระดับสูงและบรรดานักฉ้อโกงเงินประชาชนทั้งหลายนิยมให้คนสนิท เครือญาติ พรรคพวก หรือใช้บริษัทบังหน้าเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศไว้ เพื่อรอรับเงินผิดกฎหมายที่ผ่องถ่ายออกไปเก็บซุกซ่อน
คำถามเรื่องเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหลายปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เราก็มักจะได้ยินเรื่องแบบนี้ต่อเนื่อง ราวกับว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไปแล้ว เงินทุจริตที่ไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยนั้นมีมูลค่ามหาศาล จนกลายเป็นแรงจูงใจที่ดีมาก ในขณะที่โอกาสถูกจับได้และตามยึดทรัพย์ที่โกงไปนั้นมีโอกาสต่ำมากและอาจใช้เวลานานนับสิบปี ก่อให้เกิดขบวนการสมรู้ร่วมคิดในธุรกิจผิดกฎหมายและคอร์รัปชันเชิงระบบเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
หมายเหตุ:
ขอบคุณ.. กิตติเดช ฉันทังกูล
ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://gfintegrity.org/report/2019-iff-update/
https://knowledgehub.transparency.org/.../Topic-Guide-on...