ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ 9) ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 ตามที่นายนวย อินต๊ะจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนุน หมู่ 6 และราษฎรตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ได้มีหนังสือขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลปง ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตร
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เปิดเผยความคืบหน้าว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านหนุน ตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีความจุที่ระดับเก็บกักประมาณ 3.45 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 4,000 ไร่ และการอุปโภคบริโภค รักษานิเวศลำน้ำ โดยโครงการอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษา จัดทำรายงานวางโครงการ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วเสร็จ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาให้เพิ่มเติมประเด็นของการศึกษาระบบนิเวศนกยูงพร้อมมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจและศึกษาระบบนิเวศของนกยูงไทยแล้วเสร็จ โดยมหาวิทยาลัยพะเยา และเพื่อแก้ไขและลดผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา จากผลการศึกษา การวิเคราะห์สภาพพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะ พบว่า เป็นพื้นที่มีสภาพเหมาะสมในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงไทยในระดับปานกลาง พร้อมทั้งได้จัดทำแผนการจัดการพื้นที่เพื่อแก้ไขและลดผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย ในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ โดยกรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน รวมทั้งมีการติดตามและประเมินสถานภาพของนกยูงไทยบริเวณพื้นที่โครงการ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างไปจนถึงหลังการก่อสร้างไปอีกเป็นระยะ 3 ปี
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งรัดดำเนินการส่งรายงานเพิ่มเติมการศึกษาระบบนิเวศของนกยูงไทย ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาประกอบการขอเพิกถอนพื้นที่ต่อไป และเมื่อก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถตอบสนองความต้องการ และช่วยเหลือราษฎรตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ให้มีความมั่นคงของทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน