หลายฝ่ายต่างเฝ้าจับตามอง...ในวันที่ “ไร้ร่างเงา” ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ริเริ่มและผลักดันโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอีกหลายๆ เมกกะโปรเจ็คต์ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ยังเป็น...รัฐบาล คสช. ยัน...รัฐบาลผสมในปัจจุบัน
ท้ายที่สุด! รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง...จะทำอย่างไรกับโครงการยักษ์เหล่านี้ โดยเฉพาะ EEC
ล่าสุด ผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญ อย่าง...นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เห็นตรงกัน ไม่เพียงเดินหน้าโครงการ EEC หากแต่จะ ”ต่อยอด” เพื่อให้โครงการนี้ แล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแก่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องโดยเร็ว
จากเดิมที่โครงการ EEC ภายในการกำกับดูแลของ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสําคัญ
เน้นไปที่...การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม บุคลากร การศึกษา การวิจัย ธุรกิจ การเงิน เทคโนโลยี และอีกมากมาย เห็นได้จากโครงการสำคัญๆ อาทิ...
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะที่ 1 ระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567
ระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็น...โครงการรถไฟความเร็วสูงภายในโครงการ EEC จาก...สถานีอู่ตะเภา จ.ระยอง ไปยัง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากสถานีอู่ตะเภาถึง จ.ตราด ได้ในระยะเวลา 64 นาที
โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ในปี 2564 และคัดเลือกผู้ลงทุนได้ในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571
ว่ากันว่า...โครงการข้างต้น จะสร้างความต่อเนื่อง ทั้งการขยายเมืองรอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา 30 กิโลเมตร ทั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับภาคตะวันออกสู่แหล่งผลไม้หลักของภูมิภาค กระทั่ง ได้ชื่อว่าเป็น...โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก
นอกจากนี้ ยังจะมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซี่งปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ รวมถึงการขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
อีกทั้งยังมี...โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีพื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ ซึ่ง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 และเตรียมนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี
คาดว่า จะสามารถเปิดดำเนินการโครงการได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)
ทว่า ในช่วงที่โลกและไทย ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 เป็นเหตุให้ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2563) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีเพียง 225 โครงการ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมีเม็ดเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยอง 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา อีก 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท
ถือว่า...พิษโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบโดยตรงและส่งผลเสียเยอะมาก เพราะการที่โลกขาดการเคลื่อนย้ายของนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น...นักลงทุน นักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ คาดว่าไทยจะได้ต้อนรับชาวต่างชาติในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน
เมื่อต้องพบกับสภาพความเป็นจริง! สิ่งนี้...ส่งผลกระทบไปยังโครงการ EEC โดยปริยาย
ยิ่งสถานการณ์การเมือง “ม็อบไล่ลุง” ที่คาดว่า...น่าจะขยายผล และสร้างบาดแผลใหม่ให้กับสังคมไทย ได้อย่างรุนแรง ยิ่งทำให้...นักลงทุนรายใหม่ไม่เข้ามา และมีแนวโน้มว่า...รายเก่า จะย้ายฐานการผลิตออกไป
ตอกย้ำความเสียหายให้กับโครงการ EEC และเศรษฐกิจของไทย มากขึ้นไปอีก
แม้ว่า...ทั้ง นายสุพัฒนพงษ์ และ นายอาคม จะพยายามสร้าง “จุดขายใหม่ๆ” เพิ่มเติมจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งสร้างผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ๆ รองรับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ EEC รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จำเป็นจะต้องมีหลักประกันภัยระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในไทย
ไม่เพียงแค่นั้น...ยังจะให้ สำนักงาน คปภ. ขยายขอบเขตการสร้างหลักประกันให้กับระบบราง โฟกัสไปที่รถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้าทั่วไปและรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ในส่วน การลงทุนภาคเอกชน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้หารือร่วมกันถึงการทำงานเชิงรุก เพื่อดึงกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนในไทย ตาม “นโยบายเปิดกว้างเศรษฐกิจ” (Reopening Economy) ที่จะเน้นกลุ่ม นักท่องเที่ยวเพื่อการลงทุน (Investment Tourism) นอกเหนือจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
พูดให้ชัด! รัฐบาลไทย ทำทุกวิถีทางเพื่อดึงกลุ่ม Investment Tourism เข้าไทย เน้นไปลงทุนในโครงการ EEC เป็นหลัก
ไม่ได้พูดเปล่า...งานนี้ รัฐบาลไทย สั่งการไปยัง “ทูตพาณิชย์” ในหลายประเทศชั้นนำ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เพื่อสร้าง “รูมพิเศษ” สำหรับพูดคุยเป็นการเฉพาะกิจ ถึงการสร้างแรงจูงใจพิเศษ เพื่อให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เข้ามาลงทุนในโครงการ EEC
เรียกว่า...เดิมพันนี้ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปล่อยให้โครงการ EEC ล้มไปกับการขาดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ได้เป็นอันขาด
ดังนั้น โครงการ EEC จึงต้อง...วัน…ทู…Go!!!