รฟม.จ่องานเข้าอีก หลังดั้นเมฆรื้อเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ยี่หระคำสั่งศาล องค์กรสื่อมวลชนออกโรงยื่น ป.ป.ช.-คตง. สอบสวนหาไอ้โม่งชักใยอยู่เบื้องหลัง-เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายคฑาภณ สนธิจิตร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และ รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเอาผิดผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (คณะกรรมการตามมาตรา 36) เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางรายหรือไม่
นายคฑาภณ ระบุว่า จากการติดตาม และตรวจสอบเส้นทางการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุน 142,789 ล้านบาท) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ตั้งแต่ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยมีกำหนดยื่นซองข้อเสนอใน วันที่ 23 กันยายน 2563 พบว่า หลังปิดขายซองประมูลไปร่วม 2 เดือน ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ที่มี นายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. และรักษาการรองผู้ว่าการ รฟม.(วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธาน กลับมีการพิจารณาเห็นชอบ ให้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว จากรูปแบบเดิม ที่จะพิจารณาซองข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทนการลงทุนจากบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับการประมูลโครงการลงทุนรัฐ/ ร่วมลงทุนของรัฐโดยทั่วไป มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ควบคู่กับด้านราคา(สัดส่วน 30:70) โดยอ้างว่า มีบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลร้อง และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ (คณะกรรมกาตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562) เสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบแล้ว พร้อมมีมติให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกในโครงการดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์จากหลายภาคส่วนที่เห็นว่า ไม่มีความโปร่งใส และส่อไปในทางทุจริต โดยองค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT รวมทั้งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ที่เข้าประมูล ซึ่งได้แสดงจุดยืน คัดค้านการปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกดังกล่าว เพราะ เป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ รฟม. ได้ปิดขายซองประมูลไปแล้วนับเดือน ทั้งยังถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกฎหมาย และเป็นการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตัดสินไปจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไว้ จึงได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ และกระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านการปรับปรุงเกณฑ์การประมูลดังกล่าว พร้อมยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว เพราะเห็นว่า ไม่โปร่งใส และไม่มีความเป็นธรรม ส่อเอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางราย
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตต่อการปรับปรุงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้ ที่ส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนบางราย เพราะในการประมูลพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ของ รฟม.เอง หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของ รฟม.หลายเท่าตัว ก็ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนสุดพิสดาร เช่นที่ รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกดำเนินการกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ แม้แต่การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่ต้องก่อสร้างเป็นระบบใต้ดิน และก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับโครงการนี้ รฟม. ก็ยังไม่เคยมีการกำหนดเงื่อนไขสุดพิสดารเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่นี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 63 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้ รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่น โดยให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ในการประมูลโครงการ แต่ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการตามมารตารา 36 ยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าอุทธรณ์คำสั่งศาลเพื่อขอใช้เกณฑ์ปรับปรุงการประเมินเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวใหม่ อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงมีความพยายามที่จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อหวังเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนบางรายอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน(ประเทศไทย) จึงได้ยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเอาผิดกับ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ (คณะกรรมการตามมาตรา 36) และผู้ว่าการ รฟม. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องการการดำเนินโครงการนี้ ว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนบางรายหรือไม่ พร้อมกันนี้ ทางสมาคมฯ ยังจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) เพื่อให้ คตง. ได้เข้ามาตรวจสอบการทุจริตในโครงการดังกล่าอีกด้วย เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความโปร่งใสในการดำเนินโครงการรัฐต่อไป