แบงก์กรุงไทยช็อคทั้งยืน จู่ๆ ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังมีมือดีดอดสอบถามสถานะกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ถือหุ้นใหญ่มานับ 10 ปี แต่กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ปลดสถานะพ้นจากการเป็นแบงค์รัฐ ต้องรื้อเกณฑ์ธุรกิจ ปล่อยกู้พนักงานมีช็อคถ้วนหน้า เปลี่ยนสถานะจาก รสก.เป็นเอกชนโดยปริยาย
พนง.-กรุงไทยช็อค! จู่ๆ พ้น รสก.
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งแจ้งให้ธนาคารทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุน และธนาคารกรุงไทย
โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทยไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
การเปลี่ยนสถานะของธนาคารตามความเห็นข้างต้น อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว ธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารจนได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานของธนาคารไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่น ๆ ธนาคารจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
ชี้กองทุน FIDF ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ
สาเหตุที่ธนาคารกรุงไทยต้องหลุดพ้นจากสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปโดยไม่รู้ตัวนั้น มีรายงานว่า เนื่องจากธนาคารกรุงไทยถือหุ้นหลักโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มากกว่า 50% ทำให้เกิดปัญหาข้อกฏหมายว่ามีสถานะเป็น ”รัฐวิสาหกิจ” ตามนัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หรือไม่ เนื่องจากนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามบทบัญํติดังกล่าว ได้กำหนดนิยามรัฐวิสาหกิจเอาไว้ 3 ประเภท ได้แก่
(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%
(3) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%
กรณีกองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในธนาคารมากกว่า 50% จึงมีประเด็นพิจารณาความเป็นรัฐวิสาหกิจเฉพาะตาม (1) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ว่า กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือเป็นกิจการของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีการพิจารณาขอบเขตและความหมายขององค์กรทั้ง 3 ประเภทข้างต้นไว้แล้ว โดยเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 29 ตรี เป็นกองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ และมีหน้าที่ และอำนาจในการชำระคืนต้นงินกู้ และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไม่เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรของรัฐบาล ไม่เป็นกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น และไม่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่มีสถานภาพเช่นเดียวกับ ธปท.
ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (1) แห่งบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561และไม่อยู่ในความหมายของ “หน่วยงานของรัฐ” ไม่ว่าประเภทใดตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
จึงทำให้สถานะของธนาคารกรุงไทย ที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูถือหุ้นหลักอยู่มากกว่า 50% จึงต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปโดยปริยาย
สูญเสียสิทธิประโยชน์ รสก.
ผลจากการตีความสถานะของธนาคารกรุงไทยที่ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจข้างต้น ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ตลอดระยะเวลานับ 10 ปีที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เข้ามาถือหุ้นในธนาคารกรุงไทย และกระทรวงการคลังได้ใช้อำนาจการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) มาโดยตลอดนั้น เป็นการดำเนินการที่ขัดกฎหมายใด ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะภายหลังวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ
ประเด็นที่หลายฝ่ายที่ทราบข่าวเกี่ยวกับสถานะของธนาคารกรุงไทยที่จู่ๆ ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ธนาคารไม่เคยอยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอย่างธนาคารอิสลามก่อนหน้านี้ ก็คือ เมื่อธนาคารต้องแปรสภาพพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากมายว่า บรรดาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยมีจะยังคงมีอยู่หรือไม่ ทั้งเรื่องของสวัสดิการ สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ภายหลังเกษียณ รวมทั้งวันหยุดชดเชยต่าง ๆ ที่ธนาคารเคยมีอยู่จะตีองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า หากธนาคารกรุงไทยต้องพ้นจากสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และพ้นจากการเป็นธนาคารในกำกับของกระทรวงการคลัง ก็จะต้องไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ที่ขึ้นอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยเฉพาะการดำรงกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องสัมพันธ์กับการปล่อยกู้
ขณะที่ในส่วนของการแต่งตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด)ของธนาคาร จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.กฏหมายมหาชน และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การแต่งตั้งกรรมการธนาคารไม่สามารถจะดำเนินการตาม พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ได้อีก
ขณะเดียวกันในส่วนของพนักงาน เมื่อธนาคารต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีสหกิจแล้ว บรรดาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับและสถานะของพนักงานก็ต้องเปลี่ยนไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลที่อาจต้องโอนพนักงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบประกันสังคม บรรดาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจนั้นก็ต้องหมดไป
"น่าแปลกที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ เหตุใด กระทรวงการคลังต้นสังกัด กลับไม่เคยรู้เรื่องในสิ่งนี้ เพราะตามมาตรา 5 กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จึงทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดกระทรวงการคลังและฝ่ายบริหาร จึงไม่มีการเตรียมการรองรับในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น"
ซีอีโอกรุงไทย รับ “มึนแปดตลบ”
ก่อนหน้านี้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทันทีที่ได้รับทราบสถานะของธนาคารล่าสุดว่า ธนาคารอยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับตัวกฎหมาย และได้มอบหมายให้ทีมงานทางด้านกฎหมายประสานงานเกี่ยวกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากให้พิจารณาเพื่อเห็นภาพ คือ กิจกรรมต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยไม่ได้พึ่งงบประมาณแผ่นดิน แต่มีผู้ถือหุ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยการทำกิจกรรมต่างๆ ของธนาคารกรุงไทย คือ กิจกรรมของธนาคารพาณิชย์ ทั้งในส่วนของกิจกรรมและสวัสดิการ ซึ่งเงินที่ออกมาเป็นเงินของธนาคารกรุงไทย ไม่ได้พึ่งพาเงินงบประมาณของแผ่นดิน
“การเป็นหรือไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นแค่เพียงโมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่งของเรื่องของบูรณาการทางกฎหมาย แต่เรื่องการทำกิจกรรมของธนาคารกรุงไทยมีใบอนุญาตชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพียงแต่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งแตกต่างกัน และการกำหนดนโยบายจะเป็นไปตามบริบทของผู้ถือหุ้นเท่านั้น และผมไม่อยากให้ยึดโยงอะไรจนเลยเถิด เพราะตอนนี้มีข่าวมากมายและผมพยายามระมัดระวังในการให้ข้อมูล ซึ่งจินตนาการต้องมีคำอธิบาย เมื่อมีความชัดเจนในจุดไหนผมจะออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแน่นอน”
ขณะที่แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เบื้องหลังการตีความสถานะของธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ระหว่างกระทรวงการคลัง และกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ต้องการส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในบอร์ดด้วย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง จึงมีการส่งเรื่องสอบถามถึงสถานะกองทุน และสถานะของธนาคารก่อนที่จะต้องช็อคทั้งยืนไปทั้งธนาคาร และกระทรวงการคลัง