การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งเห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์สู้โควิด ภายใต้โครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโควิด เพื่อชุมชน ปี2” เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วประเทศได้ปล่อยไอเดียอย่างสร้างสรรค์ ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 แสนบาท ผลงานธนาคารปูม้าโซล่าเซลล์ นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
กฟผ. จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เพื่อการฝึกทักษะนักประดิษฐ์ การค้นคว้า วิจัย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ แก่เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย อาชีวะ ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโควิด เพื่อชุมชน ปี2” โดยมี นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. ให้เกียรติเป็นประธาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ซึ่งโครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโควิด เพื่อชุมชน ปี2” นี้ กฟผ. จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็นนักประดิษฐ์ การค้นคว้า วิจัย แก่เยาวชนในระดับอุดมศึกษา อีกทั้ง ยังตระหนักถึงเศรษฐกิจในภาพรวมและฐานรากของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายแนวทางการดำเนินงานขององค์การ ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมายกระดับประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าและคุณภาพชีวิตของประชาชน
นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ กล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่า กฟผ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะปัจจุบันนี้ นวัตกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อโลกประสบวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่กระทันหันส่งผลให้มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤต ผลกระทบดังกล่าวกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกลไกผลักดันการคิดค้น “นวัตกรรมสู้โควิด” ขึ้นอย่างมากมายในโลก
โดยในปีนี้มีนิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจส่งผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จำนวน 61 ทีม ซึ่งแต่ละผลงานนั้นมีความน่าสนใจ แปลกใหม่ และสะท้อนแนวคิดมุมมองและความหลากหลายของนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงงาน ผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่จะช่วย สร้างมูลค่าให้สินค้า พัฒนาเศรษฐกิจและฟื้นฟูชุมชนหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมไปถึงการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับการประกวดโครงการดังกล่าวมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน ร่วมเป็นผู้ตัดสิน ได้แก่ นายประภาพงษ์ วางทุกข์ วิศวกรระดับ 10 ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมจาก กฟผ. ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ และการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางสาวนพมาศ บัววิชัยศิลป์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (สสช.) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน รศ. นพ. สมบัติ มุ่งทวีพงษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายทศพล อภิกุลวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งผลการตัดสินมีทั้งสิ้น 5 รางวัล ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ธนาคารปูม้าโซล่าเซลล์ นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานโครงการผลิตภัณฑ์จากใยกล้วยนาโนย้อมสี จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานต้นแบบนวัตกรรมตัวเก็บประจุยิ่งยวดจากถ่านหินลิกไนต์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัล จำนวน 15,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน เครื่องช่วยแช่ข้าวและบ่มข้าวด้วยวิธีการนึ่งด้วยไอน้ำ เพื่อทำ ข้าวฮางงอก จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
และรางวัล Popular Vote ผลงาน เครื่องช่วยแช่ข้าวและบ่มข้าวด้วยวิธีการนึ่งด้วยไอน้ำเพื่อทำ ข้าวฮางงอก จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
“กฟผ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการประกวดนวัตกรรมนี้ จะทำให้เยาวชนและสังคมตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศทุก ๆ ด้าน รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและส่งไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสังคม และชุมชนต่อไป” นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ กล่าวในที่สุด