บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและพัฒนาชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ผลิตเป็นเมทานอล สนับสนุนการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแนวคิดในการส่งเสริมวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีนโยบายในการทำให้วัสดุเหลือใช้หรือขยะจากกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มโครงการความร่วมมือกับ วว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาในการค้นคว้าและพัฒนา พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน CO2 มารวมกับ H2 ที่ได้มาจากกระบวนการเช่นกัน สามารถพัฒนาเป็นเมทานอลที่เป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งจุดประกายให้เกิดแนวคิดในการร่วมมือค้นคว้าพัฒนาเชิงนวัตกรรมร่วมกับ วว. ในอีก 5 โครงการ บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารและนักวิจัยของ วว. จะก่อให้เกิดงานวิจัยที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้สร้างสังคมที่มีความสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป โดยเป้าหมายหลักของ BLCP คือ การมุ่งไปที่ BCG Model อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลายภาคส่วนที่ร่วมงานกับบริษัทฯ นั้น ก็ได้รับการเผยแพร่โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง วว. และ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Limited) เป็นเฟสที่ 3 แล้ว เป็นการต่อยอดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ที่มีทีมนักวิจัยที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะนำศักยภาพมาร่วมกันดำเนินงาน โดยมุ่งใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือ 5 โครงการ ได้แก่ 1) การเพิ่มมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือกเพื่อผลิตเมทานอล 200 ลิตรต่อวัน (เฟส 3) 2) ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการผลิตชีวมวลและผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง 3)การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและประเมินความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน 4) การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale และ 5) การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale
สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง วว. และ บริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด ทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการเพิ่มมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือก เพื่อผลิตเมทานอลระดับ 100 ลิตรต่อวัน (เฟส 3) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในระดับ 55 ตันต่อปี และได้มาซึ่งผลผลิตเมทานอลในระดับ 57 ตันต่อปี อีกทั้งยังเกิดผลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดในระดับ Pilot Plant นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกสู่สิ่งแวดล้อมและมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเห็นได้จริง (Carbon capture Utilization and Storage)
2. ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ เพื่อการผลิตชีวมวล และผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง มีวัตถุประสงค์ที่จะคัดเลือกและประเมินศักยภาพสายพันธุ์สาหร่ายที่มีศักยภาพต่อการตรึงคาร์บอนไดออกไซต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม มาใช้พัฒนาวิธีการเลี้ยงสาหร่ายโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักและเสริม
3. การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและปริมาณความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน ทั้งนี้บริษัทมีความต้องการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น และสนับสนุนการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะต่างๆ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน คือ ไม้ยางพาราและชานอ้อย ในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Co-firing
4. การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิตเจลไม่น้อยกว่า 800 กิโลกรัมต่อวัน จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้งและอบรมถ่ายทอดกระบวนการผลิต
5. การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหิน ในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิต 300 กรัมของเถ้าต่อชั่วโมง จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้ง และศึกษาการนำกากเหลือทิ้งจากกระบวนการสกัดกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเหลือทิ้งอย่างเต็มวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ