กรมวิชาการเกษตร จับมือ ดีเอสไอ ทำข้อตกลงร่วมล้างบางขบวนการผลิตสารเคมีเถื่อนหลอกขายเกษตรกร ย้อนรอยผลงานความร่วมมือ 2 ปี บุกตรวจดาวกระจาย 6 จังหวัด ปิดฉากแก๊งมิจฉาชีพอายัดของกลางผิดกฎหมายส่งดำเนินคดีรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาที่มีผู้ประกอบการลักลอบผลิตและขายสารเคมีปลอม ไม่ได้มาตรฐาน หลอกขายเกษตรกร ทำให้ต้องสูญเสียเงินซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพนำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้สารเคมีปลอม และไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรว่ามีการขายสินค้าชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชผ่านสื่อออนไลน์ ต่าง ๆ ซึ่งจากการดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรพบว่ามีสารพาราควอตซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประกาศยกเลิกการใช้แล้ว และสารไกลโฟเซตซึ่งถูกจำกัดการใช้ผสมอยู่ในชีวภัณฑ์ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร จะเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่ายตามที่ระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วก็ตาม ปรากฏว่าไม่พบที่อยู่ตามข้อมูลที่ระบุไว้บนฉลาก รวมทั้งยังพบว่ามีการผลิตและจำหน่ายสินค้าชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดวัชพืชในลักษณะเดียวกันอีกหลายชนิด โดยเปลี่ยนชื่อและที่อยู่เพื่อหลบหนีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด กรมวิชาการเกษตรจึงได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีความซับซ้อนและหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ยาก ประกอบกับมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท และมีผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะเกษตรกรมากกว่า 100 ราย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากผลการปฏิบัติงานสืบสวน สอบสวน และสนธิกำลังเข้าตรวจค้นแหล่งผลิตสารเคมีผิดกฎหมายร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ระหว่างปี 2562 – 2563 สามารถตรวจยึดของกลางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมากใน 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และกรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนถึง 51.8 ล้านบาท ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการ ยึดอายัดสารชีวภัณฑ์ รวมถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องในการผลิต และรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว
จากความร่วมมือปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการผลิตและหลอกขายสารเคมีผิดกฎหมายที่ผ่านมา จนประสบความสำเร็จ สามารถหาตัวผู้กระทำผิดและอายัดของกลางได้จำนวนมากก่อนที่จะนำไปหลอกขายเกษตรกร จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลง “การประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค” ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการสนธิกำลังในการตรวจค้นและเข้าตรวจยึดของกลาง การประสานงานด้านข้อมูลของกลุ่มผู้กระทำความผิด การตรวจพิสูจน์สารเคมี และการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกลุ่มผู้กระทำความผิด รวมทั้งให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามและกวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายสารเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานที่สร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรให้หมดไปในที่สุด
“กรมวิชาการเกษตร ขอแจ้งเตือนเกษตรกรและประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ มีแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง หรือมีของแจกของแถมจำนวนมาก โดยหากมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมาได้ที่ กลุ่มสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-940-5434” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว