ทรูเฮรับปีใหม่ หลังศาลปกครองปิดฉากคดีพิพาท "ทรู-ทีโอที" มีคำสั่งสั่งไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้ ทีโอทีกรณีข้อพิพาทสัญญาร่วมงานให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) ร่วมแสนล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ธ.ค. 2563) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ละเมิดข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โดยให้บริการหรือยินยอมให้ผู้อื่น นําอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 บริษัทฯ ยื่นขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และยกคําร้องเพื่อขอบังคับตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทําให้บริษัทฯ ไม่มีภาระผูกพันในการชําระเงินตามคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า คู่พิพาทฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคําพิพากษาดังกล่าวมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบผลคําพิพากษา หากมีความคืบหน้าที่สําคัญเกี่ยวกับคดีนี้บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านทราบต่อไป
ทั้งนี้ คดีพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นในข่วงปี 2544-2548 โดยบริษัท ทีโอที ที่ในขณะนั้นยังเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่า บริษัทฯ ละเมิดข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โดยให้บริการหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าผิดสัญญาให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น 2 ส่วน คือ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2544 ถึง ส.ค. 2558 ไม่ต่ำกว่า 76,000 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ถึง ธ.ค. 2560 ไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 9.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัททรูไม่เห็นพ้องกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกลาาว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และยกคําร้องเพื่อขอบังคับตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในที่สุด
กรณีนี้ถือเป็นเคสแรกที่ศาลปกครองมีคำสั่งชี้ขาดไม่ให้เอกชนคู่สัญญาจ่ายค่าเสียหายแก่รัฐจากการละเมิด/ผิดสัญญา โดยไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรให้รัฐ ทั้งที่การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ นั้นมีเพียง 3 กรณี
1. คำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฏหมาย
2. คำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของรัฐ
3. คู่สัญญาสำคัญผิดในสัญญา
ขณะที่ในอดีตนั้นมีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำชี้ขาดแตกต่างไปจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2-3 กรณี อาทิ
กรณีพิพาททางด่วนบูรพาวิถี ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกิจการร่วมค้า BBCD และกลุ่ม ช.การช่าง คณะอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งขึ้น ก็เห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ กทพ. ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่เอกชนเป็นวงเงินรวมกว่า 6,039.89 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ 15 ม.ค. 2543 ที่ยื่นข้อพิพาท
หรือข้อพิพาทค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อ 21 พ.ย. 2557 ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหายเป็นจำนวน 9,058,906,853.61 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG