การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยโตสวนกระแสเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต COVID - 19 สมราคาแชมป์โลก โดยเฉพาะ 4 ตลาดหลักส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยเฉพาะแคนาดา Break Record ปริมาณส่งออกเน้นย้ำความเป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยมที่ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดกำลังซื้อสูง
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในปี 2563 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีปริมาณ 1.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งถือว่าข้าวหอมมะลิไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ดีแม้มีราคาสูงกว่าคู่แข่งและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยัง 4 ตลาดสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.46 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดข้าวพรีเมี่ยมที่มีกำลังซื้อสูง
นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิไทยที่คว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2563 (The World,s Best Award 2020) จะตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดี กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ จะเร่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก ในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้าวไทยทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และคุณประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกต่อไป
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในตลาดข้าวไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ แคนาดา ซึ่งในปีนี้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปยังแคนาดาทะลุ 100,000 ตัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 108,259 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.78 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกข้าวปริมาณ 88,899 ตัน เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของกรมการค้าต่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโตและนครแวนคูเวอร์ ได้จัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทางเช่น การพบปะหารือกับผู้นำเข้า (Importers) และผู้กระจายสินค้า (Distributors) เพื่อขยายช่องทางการตลาดการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เมนูอาหารไทยจากร้าน Thai Select โดยเน้นข้าวหอมมะลิไทยและข้าวสีของไทย รวมทั้งสนับสนุนการบริการอาหารจากร้านดังกล่าวส่งตรงถึงผู้บริโภค (Delivery) ผ่านแอพพลิเคชั่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID -19 และยังมีมาตรการ Lock down เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงต้องการข้าวเกรดพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานมากกว่าราคา ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวได้
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ประจำสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งทูตพาณิชย์ต้องทำงานเป็น salesman ของประเทศ โดยการเข้าถึงลูกค้ารวมทั้งแสวงหาช่องทางและโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าไทยมากขึ้น นอกจากนี้คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี (ปี 2563 – 2567) ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งเน้นการพัฒนาข้าวไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีเป้าหมาย คือ “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) แล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วต่อไป