จ่อลากยาวเป็นมหากาพย์ กับวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่แม้ประเทศไทยเราจะประสบผลสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสดังกล่าวมาร่วมปี แต่สุดท้ายกลับแตกพ่ายให้กับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานประมงผิดกฎหมาย และบ่อนพนันที่มีการลักลอบเปิดเล่นกันให้โจ๋งครึ่ม กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ ที่กำลังเรียกแขกให้งานเข้า เพราะผลพวงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ทำท่าจะเอาไม่อยู่-กู่ไม่กลับจ่อลากยาวเป็นมหากาพย์ ทำให้รัฐต้องงัดมาตรการเข้มข้นในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ ถึงขั้นประกาศ “ล็อกดาวน์” ไปแล้ว 33 จังหวัด( 28+ 5 จังหวัด) และ 57 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไปแล้วในขณะนี้ แม้รัฐบาลจะพยายาม ประดิดประดอยคำอันสวยหรูยืนยันไม่ได้เป็นการ “ล็อกดาวน์” แค่กำหนดโซน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ความหมายแทบจะไม่ต่างกัน หนทางกอบกู้วิกฤตไวรัสโควิด-19 และกอบกู้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจากนี้ไป จึงแทบจะกล่าวได้ว่าเริ่มริบหรี่ลงไปเต็มทน เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติการระบาดเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่จะทอดยาวไปอีกกี่มากน้อย เช่นเดียวกับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โม่แป้งกันมาตั้งแต่กลางปีก่อนจนป่านนี้ก็ยัง “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” จ่อจะลากยาวข้ามปี ทั้งที่ควรต้องส่ง 14 รายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเบื้องต้นไปยังวุฒิสภาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่เมื่อคณะกรรมการสรรหายังไม่สามารถเคาะรายชื่อ 14 ผู้สมัครที่ได้รับการคัดสรรเบื้องต้นส่งไปยังวุฒิสภาได้ตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้ในสมัยประชุมสภานี้ ก็มีหวังกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่อาจต้องทอดยาวไปปลายปี หรืออาจข้ามปีกันไปอีกหน ล่าสุด ยังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดกระหึ่มเมืองขึ้นมาอีกว่า มีความพยายามของผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่จ้องล้มการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เพื่อหวังซื้อเวลาให้ “ตัวเต็ง” ผู้ใกล้ชิดที่ถูกวางตัวให้เป็นประธานบอร์ด กสทช.ตั้งแต่ในมุ้ง แต่ดันมาติดเงื่อนไขขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการ กสทช.ซะได้ เลยทำให้ต้องหาทางประวิงกระบวนการสรรหา หรือล้มการสรรหาเพื่อจะได้มีเวลาเคลียร์หน้าเสื่อฟอกตัวให้ตัวเต็งที่ว่านี้ เลยมีกระแสข่าวสะพัดว่า บิ๊กรัฐบาลเตรียมเสนอนายกฯ และ ครม.ให้ส่งสัญญาณไปยังสำนักงานเลขาวุฒิสภาเพื่อล้มกระบวนการสรรหาที่ดำเนินการอยู่ แต่เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ จากนายกฯ ลุงตู่ ก็เลยเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ไปยัง ส.ว.ในคาถาให้เร่งกระบวนการรับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่ากฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่กำลังอยู่ในชั้นสุดท้าย ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณล้มกระบวนการสรรหาโดยอัตโนมัติ หากกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ต้องล้มกระดานลงอีกหน ก็เห็นทีว่าหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ กสทช.แห่งนี้ คงได้จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า เป็นหน่วยงาน “สุดอาถรรพ์” ที่ถูกล้มกระดานไปถึง 2-3 หน เพราะ กสทช.ชุดปัจจุบัน ก็เป็นชุดที่ “นายกฯ ลุงตู่” เองนั่นแหล่ะใช้อำนาจ ม.44 สั่งล้มกระดานสรรหาและให้ กสทช.ที่มีอยู่ในเวลานั้น ทำหน้าที่ขัดตาทัพรักษาการกันมาตั้งแต่ปี 61 จ่อจะนั่งรักษาการกันยิ่งกว่าชุดปกติ แบบเดียวกับที่ตัวนายกฯ พร่ำบอกกับสาธารณชน “ขอเวลาอีกไม่นาน แต่ลากยาวมาเกือบทศวรรษ” นั่นแหล่ะ หลายฝ่ายอาจไม่รู้สึกรู้สาว่า ผลพวงจากการที่ กสทช.ชุดก่อนได้รับการต่ออายุกันไปนับทศวรรษ ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างไร ก็ดูเอาจากความไม่ประสีประสาและแทบจะ “บ้อท่า” ในการใช้ประโยชน์จากคลื่น 5 จี ที่ กสทช. ตีปี๊บจัดประมูลเอาเงินเข้ารัฐได้เป็นแสนล้านบาท เมื่อต้นปี 2563 นั่นปะไร ขวบปีที่ประมูลไปได้แล้ว แทนที่ประเทศและประชาชนคนไทยจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5 จี ได้อย่างทั่วถึง ก็กลับขาดกลไกในการกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งาน 5 จีอย่างเป็นรูปธรรม วันดีคืนดี เมื่อรัฐจะรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ก็กลับไปออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือติดเชื้อโควิดต้องโหลดแอพ “ไทยชนะ” ควบคู่กับแอพ “หมอชนะ” อะไรนั่น ไหนจะสั่งให้ผู้คนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกพื้นที่/โซนควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ต้องไปขอใบรับรองยังที่ว่าการอำเภอไปโน้น กลายเป็นการสร้างภาระ สร้างความโกลาหลให้กับผู้คนหนักเข้าไปอีก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความ “ล้มเหลว” ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาและดำเนินนโยบายดิจิทัล 4.0 ของภาครัฐโดยสิ้นเชิง! ขณะที่ในส่วนของกิจการวิทยุและโทรทัศน์เอง วันนี้ก็กำลังปั่นป่วน ทุกคลื่นทุกสถานีโทรทัศน์พากันนำเสนอข่าวสารกันอย่างไร้ทิศ ทุกช่องนำเสนอข่าวสารบ้านเมืองกันจนประชาชนแทบสำลักข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นประเทศที่มีสถานีโทรทัศน์นับสิบช่องแต่ประชาชนกลับไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่รู้จะเชื่อหรือฟังใครดี ยิ่งกับสถานีวิทยุหลัก 400 กว่าสถานี และวิทยุชุมชนอีกราว 4,000 สถานีทั่วประเทศด้วยแล้ว สถานีเหล่านี้ได้ดำเนินการทดลองออกอากาศตามประกาศ กสทช.มากว่า 5 ปีแล้ว โดยไม่มีทีท่าว่า กสทช.จะจัดระเบียบสถานีวิทยุหลัก วิทยุชุมชนเหล่านี้กันอย่างไร ทุกวันนี้เราจึงเห็นแต่ละสถานีพากันโฆษณายาปลุกเซ็กส์ เสริมหน้าอก เสริมอึ๋ม ขายผลิตภัณฑ์ยาผีบอก หรือเครื่องรางของขลังค์กันเต็มหน้าปัด โดยที่องค์กร กสทช.ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพราะขาดองค์กรที่จะมาขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างแท้จริงนั่นเอง เห็นอย่างนี้แล้ว เรายังจะพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับการปัดแข้งปัดขาเพื่อ “ล้มกระดาน” การสรรหา กสทช.กันไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้อยู่กันแบบสุญญากาศอย่างนั้น หรือ “ลุงตู่-ลุงป้อม” ที่เคารพ!