นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียประกาศใช้มาตรการนำเข้าผักและผลไม้ โดยผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย เลขที่ 39/2019 และเลขที่ 2/2020 กำหนดให้ต้องมีใบรับรองการนำเข้า (Import Recommendation of Horticulture Products : RIPH) จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit : SPI) จากกรมการค้าอินโดนีเซีย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563
การยื่นขอใบ RIPH ต้องมีเอกสารประกอบ 3 รายการ คือ (1) ใบรับรอง GLOBAL GAP (2) เอกสารการจดทะเบียนแยกประเภท การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา รวมถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์ และ (3) หนังสือยืนยันผลผลิตต่อไร่/สวนหรือที่ดินที่จดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ หากนำเข้าสินค้าผักและผลไม้จากประเทศที่ได้จัดทำการยอมรับร่วมกับอินโดนีเซียด้านระบบการตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารสดที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช (Fresh Food of Plant Origin : PSAT) จะได้รับยกเว้นการยื่นเอกสารประกอบ 3 รายการข้างต้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้จัดทำ PSAT กับอินโดนีเซียแต่อย่างใด
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าผักไปอินโดนีเซียปริมาณ 2,552.7 ตัน มูลค่า 49.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 70.0 และ ร้อยละ 48.9 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ โดยผักที่ส่งออกมาก ได่แก่ ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังอบแห้ง และหอมแดง สำหรับสินค้าผลไม้ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียปริมาณ 37,615.2 ตัน มูลค่า 1,464.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 50.4 และร้อยละ 43.3 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ โดยผลไม้ที่ส่งออกมาก ได้แก่ ลำไยสดแช่เย็น ลำไยอบแห้ง และทุเรียนแช่แข็ง ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://jdih.pertanian.go.id (ภาษาอินโดนีเซีย)