หลังจากฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือก ได้แถลงประกาศเดินหน้าจัดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ถูกบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส (BTS) ได้เปิดแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า บริษัทฯ จำเป็นต้องยื่นฟ้องผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากการที่ รฟม.ได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนในคร้ังก่อน เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคคีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีบริษัทฯ ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯกระทำความผิดนั้น รฟม.ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนในโครงการนี้อีกครั้ง ด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของ รฟม. มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอที่เป็นไปตามเกณฑ์ใหม่คือพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน ด้านราคาหรือผลตอบแทน 70 คะแนน อันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองกลางที่มีคำส่ังทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ และการออกเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายส่วนกรณีที่ รฟม.ได้แถลงข่าวว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจำหน่ายคดีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปแล้วทำให้สามารถเร่ิมการประมูลใหม่ได้ทันทีนั้น ทีมกฎหมายของบีทีเอสอยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย และยืนยันว่า ยังมีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบีทีเอสมีสิทธิ์ฟ้องศาลปกครองกลางเพิ่ม 2 คดี ประกอบด้วย กรณีที่ รฟม.ยกเลิกการประกวดราคาโดยไม่มีอำนาจ และกรณี รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อเตรียมเปิดประมูลโครงการฯ รอบที่ 2 โดยไม่ฟังคำส่ังทุเลาของศาลปกครอง “บีทีเอส ไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมา และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนจะร่วมประมูลหรือไม่นั้น ขอดูทีโออาร์ที่จะออกมาก่อน และยืนยันว่าบีทีเอสไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ใหม่” นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า เชื่อว่าแม้ รฟม.จะดำเนินการต่อไปก็เชื่อว่าจะไม่สามารถดำเนินการประมูลได้แล้วเสร็จภายในปีนี้