คมนาคมแจงกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 กรณีให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวเกี่ยวกับกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 กรณีให้ใช้ความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวงได้ 120 กม./ชม. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในปัจจุบันตลอดจนความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในทุกการเดินทางของประชาชน โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทระทรวงคมนาคม เข้าร่วมแถลงข่าว ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ลงนามในกฎกระทรวงดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวง โดยผู้อำนวยการทางหลวงจะเป็นผู้ออกประกาศและกำหนดรายละเอียดสายทางที่จะบังคับใช้ความเร็วสูงสุดใหม่ ในเบื้องต้นได้มีนโยบายให้ใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 จากต่างระดับบางปะอิน - ต่างระดับอ่างทอง กม. ที่ 4+100 - 50+000 ระยะทาง 50 กิโลเมตร เป็นโครงการนำร่องภายในเดือนมีนาคม 2564 และจะทยอยเปิดให้ใช้เส้นทางอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ก่อนเข้าพื้นที่จำกัดความเร็วที่ 120 กม./ชม. จะมีการใช้เครื่องหมายจำกัดความเร็วบนพื้นทาง (Optical Speed Bar) เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รับรู้ถึงการเข้าพื้นที่ควบคุมความเร็ว และการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องทาง การใช้ Rumble Strip ในแต่ละช่องสำหรับเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบเกี่ยวกับการใช้ความเร็ว และติดตั้งป้ายแสดงความเร็วจำกัดของยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ที่บังคับใช้ความเร็วต่ำกว่า และเมื่อเข้าสู่พื้นที่จำกัดความเร็วจะมีการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วแบบแขวนสูง 2 รูปแบบ ได้แก่ ป้ายจำกัดความเร็วแต่ละช่องการเดินรถ ป้ายสัญญาณไฟจราจรแขวนสูงแบบ Variable Message Sign (VMS) ป้ายสัญญาณจราจรติดข้างทาง อาทิ ป้ายบังคับ ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว และป้ายสุดเขตบังคับ รวมถึงแถบเส้นสีขาวในช่องทางขวาสุดแสดงช่องว่างให้ผู้ขับขี่ควรเว้นระยะห่าง ขอให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางสังเกตป้ายสัญญาณจราจรและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้ทางปฏิบัติตามป้ายสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัดเพื่อความสะดวกและปลอดภัย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวง กระทรวงฯ ได้พิจารณาจากความปลอดภัยเป็นสำคัญทั้งลักษณะทางกายภาพ สภาพการใช้พื้นที่และการอยู่อาศัย ซึ่งพบว่าสามารถปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งนี้เฉพาะพื้นที่ที่มีความปลอดภัยทางกายภาพซึ่งจะต้องเป็นถนนที่มีมาตรฐานสูงขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ไม่มีจุดตัดหรือจุดกลับรถเสมอระดับถนน มีการแบ่งทิศทางจราจรอย่างชัดเจน และมีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) โดยกำหนดความเร็ว ขั้นต่ำสำหรับช่องจราจรขวาสุดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายกันในช่องทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว พร้อมทำการปักป้ายกำกับความเร็วตลอดแนวเส้นทางโดยวิศวกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ในเขตชุมชนหรือเขตโรงเรียน ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. ในบริเวณทางโค้ง ทางแยก หรือทางกลับรถ ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. บริเวณทางตรงซึ่งสามารถทำความเร็วได้ แต่ต้องไม่เกินตามที่ป้ายกำหนด โดยผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรและขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดการเดินทาง สำหรับรถประเภทอื่น ๆ ได้มีการพิจารณาปรับกำหนดความเร็วขึ้นตามความเหมาะสม ดังนี้
1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.
2. รถในขณะลากจูงรถอื่น รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม.
3. รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือกระบอกลูกสูบรวม 400 CC. ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม.
4. รถโรงเรียนใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. และรถโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม.
นอกจากนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีแผนดำเนินการติดอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและป้ายจำกัดความเร็วบนสายทางที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมกับการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. โดยใช้เงินจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของกรมการขนส่งทางบก และสำรวจการก่อสร้างสะพานลอยสำหรับข้ามทางหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ สามารถสัญจรได้สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฎในกฎกระทรวงให้มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจร ควบคุมความเร็วที่กฎหมายกำหนด สังเกตป้ายเตือนความเร็วต่าง ๆ ที่ได้กำหนดความเร็วไว้ในช่องทางเดินรถที่เหมาะสม แต่ละช่องทางเพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น