เห็นนายศรีสุวรรณ สัญญา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกโรงยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดกับ ฝ่ายบริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กรณีประมูลรถไฟฟ้า 2 สายทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เพราะส่งกลิ่นโชยทะแม่งๆ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ไต่สวนเอาผิดฝ่ายบริหาร รฟม. กันกราวรูด กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี จนนำไปสู่มติของ DSI ให้ส่งเรื่องไปยัง ปปช. เพื่อไปสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวดังกล่าวรูปมาแล้ว
ครั้งนี้ "พี่ศรี" เรา จึงกลับมาร้อง ปปช. เอาผิดฝ่ายบริหาร รฟม.อีกหน โดยพ่วงคดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แถมไปอีกคดี เนื่องจากเส้นทางก่อสร้างที่ต้องสร้างบางส่วนของรถไฟฟา ทั้ง 2 สายทางนั้น ต้องมีการก่อสร้าง อุโมงค์ และทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลําโพง-บางแค แต่กลับมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลแตกต่างกัน
โดยในอดีตนั้น รฟม.ใช้เกณฑ์ปกติในการประมูล คือ ตัดพิจารณาเอกชนที่จะชนะประมูลจากผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค จึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งก็สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
วันดีคืนดี เมื่อ รฟม.เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ กลับไปนำเอาหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกสุดพิสดาร โดยจะพิจารณา “ข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงินประกอบกัน” ด้วยข้ออ้างจำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในระดับสูง ทั้งที่เกณฑ์เดิมก็ใช้ได้ดีอยู่แล้ว
วันวานมีข่าวศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้องกรณี รฟม. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามคำชี้ขาดของศาลปกครองกลาง ก็ทำเอาผู้บริหาร รฟม. ตีปี๊บใหญ่โตว่า จะทำให้ รฟม.เดินหน้าประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มได้เสียที ภายในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้
คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดต่างพากันกระพือข่าวดีกันยกใหญ่ บ้างก็ตีปี๊บว่า จะส่งผลดีต่อหุ้นของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่คาดว่าจะได้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบนอนมายิ่งกว่าแบเบอร์ กันเข้าไปโน่น
แต่สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดในวงการรับเหมาและก่อนติดเส้นทางการประมูลรถไฟฟ้าของหน่วยงาน รฟม. กระทรวงคมนาคมมาโดยตลอดนั้น กลับฟันธงว่า "ไม่เห็นมีอะไรในกอไผ่" และไม่เห็นมีข่าวดีที่ว่า รฟม. จะสามารถเร่งรัดการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อะไรได้เลย
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดข้างต้น หาใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเพียงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางที่ให้ยกคำร้องในคดีที่ รฟม.ถูกฟ้องว่า ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกที่ไม่ใช่ด้วยกฏหมาย แต่เมื่อภายหลัง รฟม. ได้ตัดสินใจยกเลิกการประมูล โดยใช้เกณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว ก็ถือว่า เหตุแห่งคดีได้ยุติไปแล้ว ศาลจึงให้จำหน่ายคดีนี้ไปก็แค่นั้นไม่มีอะไรเลย
หากย้อนไปพิจารณาเส้นทางการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนจะเรียกแขกให้งานเข้าจนยุ่งจิงเป็นยุงตีกันนั้น จะเห็นว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก หลังจากปิดขายซองประมูลไปกว่า 2 เดือน จนถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล คือ บมจ.บีทีเอส (BTS) ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
ก่อนศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ รฟม.ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่ง รฟม.ก็ดิ้นแก้เกมด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อหวังจะเดินหน้าจะประมูลต่อไป แต่รอแล้วรอเล่ากว่า 3 เดือน ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ลงมา
ทำให้ในท้ายที่สุด ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตัดสินใจยกเลิกประกวดราคา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 63 พร้อมกับยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอจำหน่ายคดี ในประเด็นที่ถูกฟ้องกรณีปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกนี้ ซึ่งศาลปกครองกลางก็เห็นชอบให้จำหน่ายคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากเหตุแห่งคดี คือ กรณีปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกได้ยุติลงไปแล้ว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะทำให้คดีความอื่นๆ ที่ถูกฟ้องกราวรูดอยู่หลายคดี จะพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย เพราะยังมี “คดีแพ่งและอาญาอีก 2 คดี” ที่ศาลยังอยู่ระหว่างพิจารณา รวมทั้งยังมี “คดีทุจริตที่ถูกฟ้องต่อศาล ทุจริตและประพฤติมิชอบอีกคดี”
ยังไม่รวมกับคดีที่ถูกร้อง ต่อคณะกรรมการ ปปช.ให้ไต่สวนเอาผิดกรณีเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเพื่อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย
ดังนั้น คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ยกคดีตามศาลชั้นต้น ล่าสุด จึงไม่ได้มีอะไรในกอไผ่ เป็นเพียงยืนการอนุมัติให้จำหน่ายคดีตามศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ก่อนหน้าเท่านั้น ไม่ได้ผูกพันไปถึงคดีความอื่นๆ ที่คาราคาซังอยู่ในศาล หรือในมือ ปปช. แต่อย่างใด
หากจะถามว่า หาก รฟม. เดินหน้าเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยยังคงใช้เกณฑ์ประมูลสุดพิสดารดังกล่าวต่อไป จะทำให้เส้นทางการประมูลไหลลื่นราบรื่นหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
แต่ที่แน่ๆ หากในคดีความอื่น แทนที่ศาลปกครองยังคงพิจารณาอยู่มีคำตัดสินใดๆ ออกมา หรือ คณะกรรมการ ปปช. และศาลทุจริตและประพฤติมิชอบตั ดสินคดีความที่ รฟม. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะทำให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงสายสีม่วงใต้ที่กำลังดำเนินการอยู่ชะงักงันล้มคะมำทั้งยืนแน่
เหนือสิ่งอื่นใด ผลพวงจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม.นั้น ได้ยังความเสียหายให้เกิดขึ้นกับองค์กร รฟม. และประเทศชาติมหาศาล
ดังเช่นที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ออกมาระบุก่อนหน้าว่า ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้งจากที่ต้องจ่ายค่าดูแลโครงสร้างรถไฟฟ้า สาชสีส้มตะวันออกที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะต้องรอรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเจ้าปัญหาร วมทั้งยังทำให้ประชาชน ขาดโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.3 หมื่นล้าน
ความเสียหายส่วนนี้ จนถึงวันนี้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ช่วยตอบสังคมทีว่า ใครสมควรจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้!