เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือต่อ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ชะลอการพิจารณากรณีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ ระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า กสทช. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง อิสระ เที่ยงตรง เป็นธรรม ในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น จะทำเพียงการรับรองการควบรวมไม่ได้ แต่ต้องยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก และการพิจารณาครั้งนี้ควรเปิดทางให้คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาพิจารณา เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ อยู่ระหว่างรอประกาศการตำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า กสทช. มีอำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ดังนั้น กสทช. จำเป็นต้องทำหน้าที่กำกับดูแลในฐานะ (Regulator) ไม่ใช่เป็นเพียงนายทะเบียน (Registrar) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมในกิจกรรมโทรคมนาคม และคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเหตุผลของการมีอยู่ของ กสทช. (Raison d’être) “ขณะนี้มีผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ในตลาด แต่ยังถือว่ามีการแข่งขันไม่เต็มที่มากนัก จึงเข้าลักษณะตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market) แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกได้ว่า มีทางเลือกน้อย เพราะผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมมีอำนาจในตลาดมาก ซึ่งที่ผ่านมา การกำกับดูแลเพื่อผู้บริโภคไม่ได้เข้มแข็ง ดังนั้น หากลดลงเป็น Duopoly คือ รายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลือสองราย จึงเกิดคำถามว่า ผลกระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร ดังนั้น กสทช. ต้องอธิบายถึงผลกระทบต่อการแข่งขันและผู้บริโภคในกรณีของการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ และแผนการกำกับดูแลในอนาคตเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว” นอกจากนี้ แนวทางการบริหารงานของรัฐบาลที่บริหารนโยบายการสื่อสารให้คนในประเทศได้รับทราบข้อมูลในประเด็นที่ว่า หากมีการควบรวมเกิดขึ้นและเหลือเพียงสองรายใหญ่ จะมีแนวโน้มไปสู่การสมรู้ร่วมคิดที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่แข่งขันกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมตลาด (Collusion) หรือสภาวะตลาดผูกขาด (Monopoly) ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดสูง อีกทั้งการที่มีผู้แข่งขันน้อยราย โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมที่รายใหม่ ๆ จะเข้าสู่ตลาดเดิมยากขึ้นและผู้บริโภคจะมีอำนาจน้อยลงไปอีก กสทช. จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร“ขณะนี้สังคมรอ กสทช. ชุดใหม่มาทำหน้าที่ในการพิจารณาควบรวม เพราะเป็นเรื่องที่ต้องมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม ดังนั้น จึงขอให้ กสทช. ชุดรักษาการยุติการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อรอให้ กสทช. ชุดใหม่มาเริ่มกระบวนการพิจารณาต่อไป และกลับมากำกับดูแลปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น ปัญหา SMS หรือ Call center ที่ส่งมาหรือโทรมาหลอกลวง จนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า” ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการ 4 ครั้งที่ผ่านมา ได้ข้อมูลในขั้นต้นว่า การยื่นขอควบรวมกิจการของทรูกับดีแทคที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพราะบริษัทใหม่จะครอบครองการตลาดเกิน 50% และลดการแข่งขันเนื่องจากจะเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 เจ้า คือ เอไอเอส กับบริษัทใหม่ที่ควบรวมเท่านั้น ทั้งนี้ จากการศึกษายังพบว่าอำนาจของ กสทช. ตาม พ.ร.บ. และประกาศ กสทช. หลายฉบับ ยังไม่ชัดเจนพอว่า จะสามารถระงับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ได้หรือไม่ "ขอเรียกร้องให้ กสทช. และ กขค. ร่วมกันในการหามาตรการ เพื่อระงับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ให้ได้ ถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องให้ กสทช. ออกประกาศใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการระงับการควบคุมกิจการ" นพ.ระวี กล่าว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภคเตรียมจัดเสวนา “ดีล True-Dtac ต้องโปร่งใส กสทช.ต้องรับฟังผู้บริโภค” ในวันศุกร์ที่ 18 ก.พ.นี้