พลิกปูมสถานการณ์คุกรุ่น ระหว่าง "รัสเซีย-ยูเครน" ใครผิดใครถูก ก่อนจะกลายเป็น สงครามเดือด ที่ผ่านการสู้รบมาแล้ว เกือบ1 อาทิตย์ กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโลก และประเทศไทย อย่างไร ขณะที่หลายฝ่ายต่างวิงวอนให้สถานการณ์รุนแรงสงบลงโดยเร็ว
จนถึงขณะนี้ สงครามในประเทศยูเครน จากการรุกรานของกองทัพ "พญาหมีขาว" รัสเซีย ผ่านพ้นมามาแล้ว 4 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 24 ก.พ. 65 ที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งกองกำลังจู่โจมด้วยขีปนาวุธจำนวนมาก เดินหน้าถล่ม "กรุงเคียฟ" ของยูเครน อย่างรุนแรง และถือเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบ อย่างที่ชาวโลกไม่ได้เห็นกันมาแล้วหลายทศวรรษ และเสียงส่วนใหญ่ ต่างและล้วนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
หลายฝ่ายคงสงสัย ถึงชนวนสงครามครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงต้องปูพื้น ฉายภาพให้เห็นก่อนสั้นๆ ว่า ความขัดแย้งในยูเครนดำเนินมานานกว่า 7 ปี หลังรัสเซียส่งกองทัพเข้าผนวก “คาบสมุทรไครเมีย” ที่อยู่ทางภาคใต้ของยูเครน กลับมาเป็นของตัวเอง เมื่อปี 2557 พร้อมสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกลุกขึ้นสู้กับกองทัพรัฐบาล
จนช่วงนั้นสถานการณ์การเผชิญหน้าอย่างตึงเครียด ได้นำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรม เที่ยวบิน MH17 มาเลเซีย แอร์ไลน์ ถูกจรวดต่อต้านอากาศยานยิงร่วงจากฟากฟ้า โดยขีปนาวุธแบบบุ๊ก (BUK) ที่ทำขึ้นในรัสเซีย และถูกยิงออกมาจากพื้นที่ซึ่งอยู่ในการครอบครองของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ทางตะวันออกของยูเครน เสียชีวิตยกลำ 298 คน ตกเป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว เขย่าโลกมาแล้ว คงจำกันได้
สำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ CIA และ กลุ่มชาติตะวันตก โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ตรวจพบความเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซีย มีการเสริมกำลังเข้ามาในคาบสมุทรไครเมีย ขณะที่พรมแดนทางตะวันออก ก็มีการขยับเขยื้อนทหารหน่วยต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 90,000 นาย และอาจเพิ่มเป็น 175,000 นาย ในเดือน ม.ค. 2565
วิลเลียม เบิร์น ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (CIA) ฟันธงว่า กองทัพรัสเซียวางแผนที่จะยึดยูเครน ให้กลับมาสู่อ้อมอกมาตุภูมิเดิม ในยุคที่ยังเป็นสหภาพโซเวียดอันเกียงไกร
อีกจุด “แตกหัก” ที่พอจะอธิบายได้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ที่ความสัมพันธ์ "ยูเครน-รัสเซีย" ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด จากกรณีที่องค์การ NATO พยามชักชวนให้ยูเครน สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัสเซียไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะหาก "ยูเครน" เข้าร่วม ก็ย่อมหมายความว่า ชาติยุโรปตะวันออกทั้งแผง จะเป็นที่ตั้งของฐานทัพทางการทหารของชาติตะวันตก และจะกลายเป็น "หอกข้างแคร่" คอยทิ่มแทงพญาหมีขาว ให้เกิดความหวาดระแวงได้ทุกขณะจิต
โดยในปี 2560 สภายูเครนได้ลงมติ รับรองให้การร่วมมือกับนาโตเป็น “เรื่องหลักของนโยบายต่างประเทศ” ตามด้วยปี 2563 รัฐบาลยูเครน ภายใต้การนำ "โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้วางยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ ให้ความสำคัญหลักในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และการให้ได้มาซึ่งความเป็นหุ้นส่วนพิเศษกับนาโต แต่สุดท้าย จนแล้วจนรอด ยูเครนก็ไม่ได้เข้าร่วมกับนาโต
ปัจจุบันยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การนาโต เพียงแค่ได้เป็น “ประเทศหุ้นส่วน” ซึ่งหมายความว่า อาจจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต แต่รัสเซียยื่นเงื่อนไขต้องการให้บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกรับประกันว่า จะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ...ทว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับ
ตัดฉับกลับถึงภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน! หลังสงครามถล่มกรุงเคียฟ ผ่านไปได้ 4 วัน ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 มีพลเรือนและทหารเสียชีวิต อย่างน้อย 137 คน โดยประธานาธิบดี เซเลนสกี ยกย่องผู้เสียชีวิตทั้งหมดว่า เป็นวีรบุรุษ และระบุด้วยว่า มีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 316 คน
“พวกเขาสังหารประชาชน และเปลี่ยนเมืองที่สงบสุขให้กลายเป็นเป้าหมายทางทหาร มันเลวร้ายมาก และจะไม่มีวันได้รับการให้อภัย” ผู้นำยูเครนกล่าว
ทางด้าน รัสเซียยังไม่มีรายงานจำนวนทหารที่เสียชีวิตอย่างแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนอ้างว่า สามารถสังหารทหารรัสเซียได้ประมาณ 50 นาย และล่าสุดคืนวันที่ 3 หรือ เช้าวันที่ 27 ก.พ.ตามเวลาในประเทศไทย กรุงเคียฟของยูเครน ยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การโจมตีของรัสเซีย คลังน้ำมันทางตอนใต้ของกรุงเคียฟที่ห่างออกไปทางใต้ราว 40 กิโลเมตร ถูกขีปนาวุธโจมตีเสียหาย
กองทัพยูเครนพยายามตั้งป้อมต่อสู้ยิบตา โดยเปิดเผยว่า มีเครื่องบินของรัสเซีย 5 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ ถูกยิงตก ซึ่งรัสเซียปฏิเสธก่อนจะโต้กลับกองทัพรัสเซียว่า ได้ทำลายเป้าหมายทางทหารในยูเครนไปมากกว่า 70 จุด อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกรายงานว่า ภาพรวมการสู้รบส่วนใหญ่มีศูนย์กลางในพื้นที่ภาคตะวันออก และลุกลามไปถึงพื้นที่รอบกรุงเคียฟและหลายเมืองท่าติดทะเลดำ เช่น มารีอูปอล และโอเดสซา
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ประกาศ ”กฎอัยการศึก” เพื่อให้กองทัพควบคุมสถานการณ์ และแจกอาวุธแก่พลเรือนเพื่อขอให้ช่วยกันปกป้องประเทศ ขณะเดียวกันได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อรัสเซีย พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเคียฟ ห้ามประชาชนออกนอกบ้านในช่วงกลางคืน เช่นเดียวกับ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน วิงวอนให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อรัสเซีย
รวมถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบโอน และชำระเงินระหว่างประเทศที่ธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลกใช้งาน เป็นประเด็นร้อนที่ วลาดิมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กำลังหวาดวิตกเป็นอย่างยิ่งต่อมาตรการดังกล่าวนี้ !
หันกลับมาดูประเทศไทยและชาติในภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้สภาพภูมิศาสตร์จะต้ังอยู่ห่างไกลกันลิบลับ แต่เมื่อทุกวันนี้โลกมันแคบด้วยเทคโนโลยี จึงย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
มีข้อมูลการส่งออก จากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยมีการนำเข้าสินค้า จากรัสเซียและยูเครน มูลค่าร่วมหลายพันล้านบาท จากสถิติ 5 อันดับสินค้าที่ไทย นำเข้าจากยูเครนในปี 2564 ได้แก่ 1. สินค้าทางการเกษตร (4,419 ล้านบาท) 2. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (3,013 ล้านบาท) 3. ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (133 ล้านบาท) 4. สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (112 ล้านบาท) และ 5. แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ (112 ล้านบาท)
ที่สำคัญ ข้าวสาลี ข้าวโพด กากถั่วเหลือง เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น อาหารกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากยูเครน ดังนั้น สงครามครั้งนี้ จึงกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยแล้ว เพราะยูเครนไม่สามารถส่งออก ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองได้
ทำให้ราคาต้นทุนของอาหารสัตว์พุ่งขึ้น ราคาข้าวสาลีปรับขึ้นทันที เป็น 12.75 บาท/กิโลกรัม จากราคา 8.91 บาท/กิโลกรัม ในปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กิโลกรัม
ด้าน ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ ก็ปรับตัวสูงขึ้น กิจการรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเหตุที่ว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้กับยุโรป สูงถึง 46% จากการทำสงครามที่รัสเซียบุกเข้าล้อมประเทศยูเครนนั้น ผลกระทบที่ตามมา คือ ราคาก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมันในยุโรป และของโลกเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย คือ ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้น เกิดภาระค่าใช้จ่ายให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ โลจิสติกส์ที่มีการขนส่งเป็นบริการหลัก ส่วนธุรกิจที่ต้องใช้วัตถุดิบจากโลหะ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ต่างๆ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
“เกรียงไกร เธียรนุกูล” ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ยอมรับว่า สงครามในยูเครนเป็นเรื่องที่น่ากังวล อยู่ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ หลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างนักธุรกิจไทยและรัสเซีย มีขั้นตอนและต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารในรัสเซียไม่ได้ ต้องดำเนินการผ่านธนาคารในประเทศอื่น
รัสเซียถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดใหม่ ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 1.5 ล้านคนต่อปี ในช่วงโควิด-19 และเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในไทยเป็นระยะเวลานาน มีการใช้จ่ายในเกณฑ์ที่สูง อย่างไรก็ตาม หากมีความขัดแย้งที่รุนแรงบานปลาย เป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่
ปิดท้ายด้วยควงามเห็นของ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุตอกย้ำว่า หาก “รัสเซีย” บุก “ยูเครน” จะเป็นสงครามโลกขนาดใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมชี้ทางออก “สหรัฐฯ” ต้องไม่รับยูเครน เข้า “NATO” กลุ่มชาติยุโรปต้องวางตัวให้เป็นกลาง และร่วมกันผลักดันให้สหประชาชาติหามาตรการเพื่อให้สงครามครั้งนี้ยุติลงโดยเร็ว เชื่อว่า โลกใบต้องนี้ต่างและล้วนต้องการความสงบสุข สันติ คงไม่ใครอยากเห็นความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นอีก
หลายคนคงจำภาพ "บอมบ์โดม" ระเบิดปรมาณู ที่ถล่มเมือง “ฮิโรชิมา-นางาซากิ” เมื่อเดือน ส.ค. 2488 ได้ดี มันคือ "ตราบาป" ที่ยังฝังใจจำกันจนถึงทุกวันนี้ เชื่อว่า คงไม่มีใครอยากเห็น "สงครามยูเครน" กลายเป็นดินแดนมิคสัญญีอย่างในอดีต เพราะถ้าหากว่า มันเกิดขึ้น จะมีอานุภาพทำลายล้างมากมายกว่านั้น ร้อยเท่าพันทวี จากเทคโนโลยีที่มีอย่าง "เหนือล้ำ" ในปัจจุบัน
จึงเป็นสถานการณ์ร้อนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด !!!