นายทนง ขันทอง นักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศและผู้อานวยการสื่อสาร บลจ.บัวหลวง โพสต์วิจารณ์นโยบายดอกเบี้ยของแบงค์ชาติ โดยระบุว่า..
เป็นไปตามคาดที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงถึง 7.61% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ถ้าฟังดูน้ำเสียงของแบงค์ชาติในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค อันเห็นได้จากท่าทีที่ค่อนข้างจะ dovish หรือเป็นสายพิราบที่ต้องการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าที่จะบริหารจัดการเงินเฟ้อ
มุมมองของแบงค์ชาติที่ให้น้ำหนักน้อยกับเงินเฟ้อ อาจเป็นเพราะหวั่นไหวในปัญหาหนี้สินในระบบสถาบันการเงิน ที่มีตัวเลขสูงถึง 2 ล้านล้านบาท รวมท้ังหนี้ภาคครัวเรื่อนที่สูงถึง 14.64 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่าเกือบ 90% ของจีดีพี
ถ้าหากว่าดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะทำให้ภาระการชำระหนี้มากขึ้น หรือทำให้ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอ
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะสูงมากถึง 7% ในระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน แบงค์ชาติยังคงไม่มีความกระตือรือล้นในการขึ้นดอกเบี้ยที่ถูกกดลงมาต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยดอกเบี้ยนโยบายได้ลดลงมายืนที่ 0.50% มานาน 2 ปีแล้ว เพราะกลัวปัญหาหนี้เสียและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด
การที่ไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อย หรือเศรษฐกิจโดยรวม ขัดกับพันธกิจหลักของแบงค์ชาติที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของราคา หรือความมั่นคงของเงินบาท
เงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าใด อำนาจซื้อของเงินบาทก็ลดลงเท่านั้น
แบงค์ชาติปลอบใจตัวเองว่า เงินเฟ้อเป็นปัญหาอุปทาน หรือซับไพลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมากกว่า ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยไม่มีผลมากในการจัดการกับเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซับไพลเชนสะดุดจากปัญหาการระบาดของโควิด19 ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า สงครามยูเครนทำให้การค้าโลกไม่ดำเนินไปตามปกติ และทำให้พลังงานเกิดการขาดแคลน แต่ในขณะเดียวกันแบงค์ชาติมองว่าปัญหาซับไพลที่ติดขัดจะค่อยๆ คลี่คลายลงไป และจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบ 2%-3% ที่กำหนดเอาไว้ในระยะเวลาต่อไป
ความจริง เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องชั่วคราว (transition) เหมือนอย่างที่แบงค์ชาติพยายามส่งสัญญาณ แต่มันได้ฝังรากลึกลงในโครงสร้างเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลกระทบเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจไทย
ก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า นางเจเน็ต เยลเลน รมว. คลังสหรัฐฯ และนายเจโรม เพาแวลล์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า ไม่ได้เป็นกังวลใจกับเงินเฟ้อมากนัก เพราะว่ามันเป็นผลมาจากการซัพดาวน์ของเศรษฐกิจ และซับไพลเชนช็อค เมื่อการระบาดของโควิดคลี่คลายลง การติดขัดในระบบซับไพลเชนจะดีขึ้น และะทำให้เงินเฟ้อลดลง
มาตอนนี้ เยลเลนยอมรับว่า ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า ทำไมเงินเฟ้อถึงได้รุนแรงเช่นนี้ จากตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐแตะระดับ 9.1% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี
พอเกิดสงครามยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น โจ ไบเดน รีบชี้นิวไปยังประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียว่า การขึ้นราคาน้ำมันของปูติน (Putin price hike) ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้น ท้ังๆ ที่นายเพาแวลล์ยอมรับว่า เงินเฟ้อก่อตัวขึ้นมาก่อนสงครามยูเครนด้วยซ้ำ
เงินเฟ้อเป็นปรากฎการณ์ทางการเงิน และการที่เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ในโลกในเวลานี้ มาจากสาเหตุหลัก คือ การเพิ่มปริมาณเงินในระบบของธนาคารกลางที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ สวิส และจีน โดยที่ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมามีการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบมากกว่า $30 ล้านล้าน
เมื่อมีการเพิ่มปริมาณเงินมากผิดปกติเข้าไปในระบบการเงิน จึงทำให้เกิดดีมานด์ที่ไม่ควรจะเกิดแต่แรก และมีผลทำให้ราคาทรัพย์สินต่างๆ ถูกบิดเบือน ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้น ราคาอสังหาฯ ราคาบอนด์ หรือตราสารหนี้ต่างๆ ที่เป็นฟองสบู่ทางการเงิน
ตัวดีมานด์เทียมที่ถูกสร้างขึ้นโดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบนี้ ทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดการเงิน ตลาดคริปโต และเป็นหัวเชื้อหลักที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกในเวลานี้
การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำผิดปกตินี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีผลทำให้เงินเฟ้อมีการฟักตัว และทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของดอกเบี้ยติดลบ ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.25% เงินฝากประจำอยู่ที่ 0.75% ทำให้ไม่เอื้อต่อการออมเงินในระบบ และผลักดันให้เงินออมไหลไปเก็งกำไรในตลาดทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
ที่สำคัญ แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของแบงค์ชาติจะต่ำ และดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำไม่ถึง 1% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้โดยรวมเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 6% กว่า สะท้อนให้เห็นกลไกที่บิดเบือนในระบบการเงินของไทย และทำให้คนไทยต้องมีภาระในการชำระหนี้สูงที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในเวลานี้
แบงค์ชาติมีอาการกล้าๆ กลัวๆ ในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย โดยบอกว่า เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย หรือขึ้นแต่ละทีก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นแรง เพราะว่าต้องดูแลเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากพิษของโควิด
แต่ความจริงแล้ว แบงค์ชาติน่าที่จะกังวลใจกับปัญหาหนี้ในระบบการเงินมากกว่า เพราะว่าถ้าดอกเบี้ยต้องขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ทันท่วงที จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นไปอีก
ความจริงโครงสร้างของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่แบงค์เป็นผู้กำหนดกติกา คนไทยควรกู้เงินเสียดอกเบี้ย 2%-3% ไม่ใช่ 6%กว่า เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
เมื่อกลัวว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นในระบบ กลัวภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่จะเลวร้ายลง กลัวว่าจีดีพีจะโตไม่พอที่จะรองรับการจ้างงานหรือการขยายตัวของภาคธุรกิจ แบงค์ชาติจึงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายมาตลอด
แม้ว่าจะผ่อนคลาย แต่ภาระการชำระดอกเบี้ยของคนไทยกลับไม่ผ่อนคลายตาม ยังสูงผิดธรรมชาติ ถ้าหากว่าขึ้นดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติ ดอกเบี้ยเงินกู้ยิ่งไม่ทะลุหลังคาไปหรือ?
เมื่อเพิกเฉยกับเรื่องเงินเฟ้อ เงินเฟ้อก็จะกลับมาหลอกหลอน เพราะว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง อันเป็นผลพวงของการพิมพ์เงินอีลุ่ยฉุ่ยแฉกของธนาคารกลางหลักของโลก ที่ทำให้เกิดดีมานด์เทียมตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา และปัญหาการขาดแคลนซับไพลที่มาซ้ำเติมในเวลานี้ ทำให้เงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาโครงสร้างที่ไม่ใช่ว่าจะแก้กันง่ายๆ
จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี คณะกรรมการนโยบายการเงินจะประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 คร้ัง ตลาดคาดกันว่าแบงค์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยคราวละ 0.25% ทำให้ตอนสิ้นปี ดอกเบี้ยนโยบายจะยืนอยู่ที่ 1.25% ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐจะไปจากระดับปัจจุบันที่ 2.50% ไปถึง 3.50% ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยบาทกับดอกเบี้ยดอลล่าร์ค่อนข้างสูง
ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยบาทกับดอกเบี้ยดอลล่าร์ที่สูงถึง 2.25% ต่อไปจะสร้างแรงกดดันให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแม้ว่าแบงค์ชาติบอกว่ามันไม่ได้มีผลมากก็ตาม เพราะว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ
แต่ค่าเงินบาทที่ไหลรูดไปที่ระดับ 36 บาท หรือเกือบแตะ 37 บาทต่อดอลล่าร์ในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ หรืออ่อนค่าไป 3-4 บาทก่อนหน้านี้ เป็นการซ้ำเติมปัญหาของเงินเฟ้อ เนื่องจากเวลาแปลงบาทไปซื้อสินค้านำเข้า หรือซื้อน้ำมันจะต้องใช้บาทเพิ่มขึ้น
การอ่อนตัวของค่าเงินบาทจึงกลายเป็นโรคแทรกซ้อนในการบริหารนโยบายการเงินที่เหมาะสม หรือสมดุลกับเศรษฐกิจมหภาคของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการก่อหนี้ในรูปดอลล่าร์สูงถึงเกือบ $200,000 ล้านบาทยิ่งอ่อน ภาระการชำระหนี้ต่างประเทศยิ่งมากขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจข้างหน้ายังไม่มีความแน่นอนสูง หรือมีความเปราะบาง เพราะว่าอเมริกาเข้าสู่ภาวะรีเซสชั่นเรียบร้อยไปแล้วจากการที่เศรษฐกิจติดลบสองไตรมาสติดต่อกันในครึ่งแรกของปี 2022 เศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังอ่อนแอลง แม้ว่าแบงค์ชาติจะอ้างว่าไม่ต้องห่วง เพราะว่ามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ $240,000 ล้าน แต่ภาวะที่ผันผวนของตลาดการเงินในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างฉับพลัน ทำให้มีความเสี่ยงว่า ไทยอาจจะสูญเสียเงินทุนสำรองจากการโยกเงินออก หรือภาระการชำระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้น
Credit Suisse เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถบ่ายเบี่ยงอีกต่อไปในการจัดการกับเงินเฟ้ออย่างเด็ดขาด โดยต้องดึงเอาเงินเฟ้อกลับลงมาสู่ระดับเป้าหมาย 2% ให้ได้ มิเช่นนั้นจะสูยเสียความน่าเชื่อถือที่เหลือน้อยอยู่แล้ว หรืออาจจะเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ในระยะเวลาต่อไปเพราะว่ามัวแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลตลาดการเงินอย่างเดียวจนลืมตัว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนถึงระดับ 5%-6% และแช่ดอกเบี้ยในระดับนี้นานหลายปี จนกว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงมา
การขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงเช่นนี้เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ดีมานด์ คือลดดีมานด์ในเศรษฐกิจลงเหมือนกับที่ได้ทำในยุคทศวรรษที่ 1980s แม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าปัญหาเงินเฟ้อตอนนี้มาจากฝั่งของซับไพลมากกว่า
แต่ในเมื่อเงินเฟ้อเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างดีมานด์กับซับไพล เมื่อซับไพลเป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม (สงครามยูเครน สงครามพลังงาน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามสินค้าโภคภัณฑ์ สงครามซับไพลเชน ฯลฯ) จึงไม่มีทางเลือก ต้องกลับมาแก้เงินเฟ้อที่ดีมานด์ คือการขึ้นดอกเบี้ย หรือการลดสภาพคล่องจากระบบการเงินอย่างแน่วแน่
นักวิเคราะห์ส่วนมากมองโลกในแง่ดี ต่างจาก Credit Suisse โดยมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 4% หลังจากนั้นจะยูเทิร์นด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ตลาดหุ้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกคร้ัง
แต่ถ้าไซเกิ้ลของเงินเฟ้อที่จะอยู่กับโลกอีกนาน จากปัญหาโครงสร้างที่หมักหมม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินกว่า $30 ล้านล้านในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการบิดเบือนของราคา (price distortion) และสถานการณ์ของซับไพลช้อคที่เกิดจากไวรัสที่อุบัติขึ้นมาเรื่อยๆ การแซงชั่น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงระหว่างมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออก ทำให้เงินเฟ้อจะฝังรากลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจโลก
อาร์เจนติน่ากำลังเจอเงินเฟ้อ 60% ในเวลานี้ แม้แต่อังกฤษยังจะเจอเงินเฟ้อ 13% ในปีหน้า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของทุกประเทศ รวมท้ังประเทศไทย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ยาขม คือการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง เพื่อดึงเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้ เพราะว่าเงินเฟ้อเป็นมหันตภัยของเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินเสื่อม ทำให้อำนาจซื้อลด ทำให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง หรือรายได้น้อยเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
เป้าหมายของการบรรลุความสมดุลของเศรษฐกิจ จึงเป็นภาระที่สำคัญในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ จีดีพี อัตราแลกเปลี่ยน ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ผ่านมา มันไม่สมดุล เพราะว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อมาก ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เหมือนฟ้ากับดิน ประชาชน หรือธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กลำบาก ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์จากการผูกขาดและมีอำนาจเหนือทางการเงิน เม็ดเงินในระบบส่วนมากไหลไปสู่การเก็งกำไรในตลาดเงิน มากกว่าที่จะไฟแนนซ์การขยายตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือภาคการผลิตที่จะสร้างอนาคตให้ประเทศ เงินบาทที่อ่อนทำให้ภาคการส่งออกได้ประโยชน์ แต่ประเทศโดยรวมเสียประโยชน์มากกว่าได้
ก็คงต้องกลับไปทบทวนหรือทำการบ้านกันใหม่ว่า จะบริหารเศรษฐกิจมหภาคของไทยให้กลับสู่ภาวะสมดุลได้อย่างไร
เพราะที่ผ่านมามันไม่สมดุล จึงทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ การเก็งกำไรในตลาดการเงิน มากกว่าการลงทุนในเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิด productivity หรือความสามารถในการแข่งขัน
ภาระหนี้ที่สูง ความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศเข้าสุ่ยุคข้าวยากหมากแพง โดยที่การแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องที่ลำบากแสนเข็ญ เพราะต้องแก้ท้ังโครงสร้าง และปรัชญาแนวความคิด ที่ต้องการคนไทยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ไม่ใช่เอื้อนายทุน หรือธุรกิจส่วนใดส่วนหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูล:เพจ Thanong Fanclub