GULF โตไม่หยุด! กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 เพิ่มขึ้น 120% จากปีก่อน ผลจากโรงไฟฟ้า IPP ที่ทยอยเปิดดำเนินการ และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH
GULF รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 โดดเด่น รับรู้กำไรจากการดำเนินงาน 3,081 ล้านบาท เติบโต 120% YoY จากโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1-3 ที่เปิดดำเนินการ และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 24,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1-3 (รวม 1,987.5 เมกะวัตต์) ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปในปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการ ภายใต้กลุ่ม GMP อันเนื่องมาจากราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 2/2564 ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนีนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย Capacity Factor เฉลี่ยสูงขึ้นจาก 21% ในไตรมาส 2/2564 เป็น 24% ในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วง low season เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง high season ซึ่งมี Capacity Factor เฉลี่ยอยู่ในระดับ 40-50% นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 อีกด้วย
ในส่วนของกำไรขั้นต้นจากการขายในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 4,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% หรือเพิ่มขึ้น 1,645 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 19.2% ลดลงจาก 24.0% ในไตรมาส 2/2564 โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 238.56 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาส 2/2564 เป็น 422.71 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 77% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3230 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.1698 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,680 ล้านบาท หรือ 120% จากไตรมาส 2/2564 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรจากโครงการ GSRC หน่วยที่ 1-3 ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2564 เดือนตุลาคม 2564 และเดือนมีนาคม 2565 ตามลำดับ และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาท นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2565 PTT NGD ซึ่งเป็นโครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับ ปตท. นั้น ได้บันทึกส่วนแบ่งกำไรเท่ากับ 273 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 332% เทียบกับไตรมาส 2/2564 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากโครงสร้างรายได้นั้น ผูกกับราคาน้ำมันเตา
สำหรับกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2565 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จาก 1,407 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 6% จาก 33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 35.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/2565 ซึ่งเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.89 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.79 เท่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เนื่องจากการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2565 ความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ยังเป็นไปตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 4 (662.5 เมกะวัตต์) ในเดือนตุลาคม หรือโครงการโซลาร์รูฟท็อปภายใต้ GULF1 ที่จะทยอยเปิดดำเนินการให้ครบ 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี นอกจากนี้ GULF ได้เข้าถือหุ้น 50% ร่วมกับกันกุล ใน Gulf Gunkul Corporation ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ GULF สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในงบการเงินตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป เนื่องจากทั้ง 3 โครงการได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว จึงมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 2565 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน GULF อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในยุโรป อังกฤษ อเมริกา และเอเชีย ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปและเห็นความชัดเจนภายในปีนี้