เหลือบไปเห็น ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ออกมาโพสต์ FB กระทุ้งการรถไฟฟ้าชนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว “โมโนเรล” สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ที่มีข่าวก่อนหน้าว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้ หลังมีการดำเนินการทดสอบระบบมากว่า 3 เดือนก่อนหน้านี้
แต่คำตอบที่ได้จากฝ่ายบริหาร รฟม. กลับออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง โดยอ้างว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังอยู่ระหว่างการทดสอบเสมือนจริง (Trial Run) เมื่อผ่านการรับรองความปลอดภัยแล้ว รฟม. จึงจะกำหนดวันเปิดใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
"ทำเอาประชาชนที่เฝ้ารอใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ หาวเรอไปตามๆ กัน และต่างแปลกประหลาดใจ เหตุใด รฟม.ยังมัวโอ้เอ้ประวิงเวลาไม่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายนี้อยู่อีก ทั้งที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานเองก็มีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี รฟม. จึงควรร่วมมือกับเอกชนเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในต้นเดือนมิถุนายนนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นช่วงโรงเรียนเปิด” ดร.สามารถ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.สามารถ ยังสอบถาม รฟม. ไปถึงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากที่สิ้นสุดที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ที่จะให้ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ฟันหลอ” เหมือนกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ไม่เชื่อมกับสายสีน้ำเงินในช่วงที่เปิดให้บริการใหม่ ๆ จนทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนไปตามๆ กัน
ซึ่งจากการตรวจสอบไปถึงเรื่องดังกล่าวก็ทำเอาทุกฝ่ายงงเป็นไก่ตาแตก ที่จู่ๆ โครงการส่วนขยายที่จะเชื่อมไปยังแยกรัชโยธินนั้นถูกสั่งระงับไปดื้อๆ ทั้งที่โครงการนี้มีการจัดทำประชาพิจารณ์และผ่าน EIA และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เองก็ได้ความเห็นชอบไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว มีการลงนามในสัญญากับเอกชนที่จะเป็นผู้แบกรับภาระค่าก่อสร้างจำนวน 3,000 ล้านเองไปแล้ว ขยายเส้นทางไปเมื่อไหร่ ผู้โดยสารที่รอใช้บริการหน้าศาลรัชดา และ ม.จันทรเกษม ก็ได้อานิสงส์ไปในทันที
นัยว่า เรื่องของเรื่องที่ทำเอา รฟม. ไปไม่เป็น เพราะถูก บมจ.บีอีเอ็ม ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินลุกขึ้นมาทักท้วงอ้างว่า การขยายเส้นทางไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีเขียวเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ และกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารและรายได้ของโครงข่าย ทั้งที่ประเด็นข้อทักท้วงเหล่านี้ควรจะมีการดำเนินการไปตั้งแต่เมื่อครั้งที่ รฟม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อหลายปีก่อนแล้ว และส่วนที่ขยายออกไปนั้น มันก็ไม่มีผลอะไรกับรถไฟฟ้าใต้ดินแม้แต่น้อย เผลอๆ อาจจะเป็นผลดีกับโครงข่ายเสียด้วยซ้ำ
แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้งหลายทั้งปวง มันก็เป็นเรื่องที่ รฟม.เองจะต้องเข้ามาดูแล และสามารถจะล้วงลูกลงไปดูไส้ในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ดีกว่าปล่อยให้เป็นฟันหลอให้ชาวบ้านร้านรวงก่นด่าเป็นรายวัน อย่าลืมว่า โครงการเก่าประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้มเจ้ากรรม ที่ รฟม. ตั้งแท่นจะให้รัฐควักเม็ดเงินภาษีนับแสนล้านไปประเคนให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานร่วมทุน BEM รายนี้ ทั้งที่มีราคาอ้างอิงจากคู่แข่ง BTS ยืนยันชัดเจนว่า จะใช้เงินรัฐอุดหนุนไม่ถึง 9,600 ล้านค้ำคออยู่นั้น ยังเคลียร์หน้าเสื่อกันไม่เสร็จ
จนทำให้ประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้าต้องหาวเรอไปกับความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม กันมาหนแล้ว มาถึงโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ที่สร้างเสร็จแล้ว ทดสอบระบบอะไรต่อมิอะไรก็เสร็จไปหมดแล้ว กลับยังมัวโอ้เอ้จะจับไปเป็นตัวประกันโครงการกันอีก ก็ให้ระวังเถอะ
เพราะหากรัฐบาลใหม่พลิกผัน ไม่ใช่ รมต.จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในอดีตแล้ว ก็ให้ระวังผู้บริหาร รฟม.จอมลูกเล่นยียวนแบบนี้จะถูกเชือดเซ่น “ความไม่เอาอ่าว” แค่ปัญหาเล็กน้อยกลับปล่อยให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการเอาได้ เพราะเรื่องใหญ่กว่านั้นคือนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายกำลังจะมาแล้ว จริงไม่จริง!