
เป็นรัฐบาลทั้งที! ต้องผลักดันโครงการเมกะโปรเจคต์ นั่นหมายถึงมีเม็ดเงินการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอนาคตให้กับประเทศ
“เสือออนไลน์” ประเมินว่า ช่วงเวลา 4 ปี บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จะผลักดัน 2 โครงการเมกะโปรเจคต์ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นหมายถึงการวางฐานอันแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
คือ..โครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสินค้า-น้ำมันดิบ เชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทยที่ จ.ระนอง-ชุมพร ระยะทางประมาณ 90 กม. ด้วยเส้นทางรถไฟ-ถนนมอเตอร์เวย์-ท่อส่งน้ำมัน และ โครงการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐาไปประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยนำโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ไปโรดโชว์ด้วย
นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้หารือกับผู้บริหารบริษัท Dubai Port World ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือและเขตการค้าเสรี
อย่าลืม! เมืองดูไบมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีชื่อว่า ท่าเรือเจเบล อาลี เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดและพลุกพล่านที่สุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่สำคัญสำหรับภูมิภาคดังกล่าว โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกล้ำสมัยและมีเครือข่ายการเชื่อมต่อการขนส่งที่กว้างขวางไปยังจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศจีน

ส่วน “แลนด์บริดจ์” ของไทยนั้น! ไม่ใช่แนวคิดเหมือนในอดีต คือ “อินฟราสตรัคเจอร์ ดิเวลลอปเมนท์” แต่จะเป็น “บิซิเนส โมเดล” โดยนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสและประโยชน์คุ้มค่า เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก คือ ช่องแคบมะละกา-ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งต้องอ้อมและมีสภาพแออัดมาก เพราะมีเรือขนสินค้าและน้ำมันดิบวิ่งผ่าน 8-9 หมื่นลำ/ปี โดยต้องใช้เวลาประมาณ 9 วัน จึงจะผ่านไปได้
แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะลดเวลาลงเหลือแค่ 5 วัน ช่วยประหยัดค่าขนส่งสินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์) จากต้นทาง-ปลายทาง ได้ประมาณ 15% และประหยัดค่าขนส่งน้ำมันดิบไปได้ 6%
ปัจจุบันมีการขนน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ผ่านช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ ไปจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไทย-เวียดนาม-ฮ่องกง-ไต้หวัน ไม่ต่ำกว่า 13 ล้านบาเรล/วัน โดยฉพาะประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ประมาณ 973,486 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 91,579 ล้านบาท/เดือน (ช่วงม.ค.-พ.ย.66)
ถึงแม้จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง ที่ จ.ชุมพร-ระนอง แต่มีการวางแนวคิดให้แลนด์บริดจ์เป็นซิงเกิลพอร์ต หรือท่าเรือเดียว และซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ คือ บริหารจัดการคนเดียว เพราะถ้ายกตู้คอนเทเนอร์ขึ้นๆ ลงๆ แล้วต้องจ่ายค่ายกครั้งหนึ่ง แบบนั้นไม่ไหวแน่นอน
โดยแลนด์บริดจ์เป็นการขาย “โลเคชั่น” ประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเส้นทางคมนาคมขนส่งของโลก ส่วนจะคุ้มทุนกี่ปี? เป็นเรื่องของเอกชน แต่อายุ “สัมปทาน”กี่ปี?
ประเทศไทยให้ได้เต็มที่ตามกฎหมาย

โครงการแลนด์บริดจ์ มีจุดขายที่ 1. ลดเวลาการขนส่ง 2. ลดต้นทุนค่าขนส่ง จากที่เคยผ่านช่องแคบมะละกา และท่าเรือสิงคโปร์ ดังนั้นเม็ดเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท จึงก้อนนิดเดียว ถ้าตู้สินค้า-น้ำมันดิบที่เคยผ่านช่องแคบมะละกา เพียงแค่ 25% ย้ายมาใช้บริการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งการขนน้ำมันดิบเข้าประเทศไทยไม่ต้องอ้อมเกาะสิงคโปร์อีกต่อไป
แล้วประเทศจีนขนสินค้าทางรถไฟมาลงท่าเรือ จ.ระนอง ปัจจุบันจีนขนสินค้ามาลงเรือที่แหลมฉบังอยู่แล้ว ไปจินตนาการกันเอาเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการสร้างงาน สร้างรายได้ในประเทศไทย
ถัดมา คือ การเจรจาโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยวันที่ 7 ก.พ.นี้ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาเยือนประเทศไทย จะมีการเจราเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวด้วย

ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศส่วนใหญ่ ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก รวมทั้งไทยมีโรงแยกก๊าซ 7 โรง ซึ่งต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี-เม็ดพลาสติก ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพออย่างต่อเนื่องหลายสิบปี และราคาไม่ผันผวนมาก
ประเทศไทยขุดก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นมาใช้เป็นเวลากว่า 30 ปี แม้ทุกวันนี้ยังขุดอยู่ แต่ปริมาณก๊าซหร่อยหรอลงไปมาก แถมช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนมือผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะในอ่าวไทย ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซยังไม่เท่าในอดีต จึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทย และราคาค่อนข้างผันผวน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงมากขึ้น คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นมาก
ที่สำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไทยยังไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ 100% เนื่องจากพลังงานทดแทนยังไม่มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ นอกจากปล่อยคาร์บอนในปริมาณน้อยแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียร และมีประสิทธิภาพ
สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันกว่า 26,000ตารางกิโลเมตร มีการประเมินว่าใต้บาดาลมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในปริมาณเท่ากับ หรือมากกว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ขุดในอ่าวไทยมากว่า 30 ปี คิดเป็นมูลค่าก๊าซและน้ำมันดิบในพื้นที่ทับซ้อนมากกว่า 10 ล้านล้านบาท สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 6-20 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นี่ยังไม่รวมการเก็บค่าภาคหลวง และรายได้จากภาษีในรูปแบบต่างๆในแต่ละปี จะเกิดสร้างงาน สร้างรายได้มากมายขนาดไหน ลองนึกภาพกันเอาเอง แต่ที่สำคัญคือถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เข้ามาป้อนโรงผลิตไฟฟ้า
ก็ไม่ต้องฝัน! ว่าราคาค่าไฟฟ้าจะถูกลงอีกต่อไป
รัฐบาลนายเศรษฐาจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นอนาคตของคนไทยจะลำบาก!!
เสือออนไลน์