
อินโดนีเซีย และเวียดนาม คิดทำรถไฟความเร็วสูงช้ากว่าไทย แต่ของไทยติดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาของถนนลูกรังที่ไม่ยอมหมดไปจากประเทศเสียที และการรัฐประหาร
…
ก่อนหน้านี้ “เสือออนไลน์” เคยกล่าวถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไม่ต่ำกว่า 250 กม./ชม.) สายแรกของภูมิภาคอาเซียน คือ สายจาการ์ต้า-บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 ปี แล้วเปิดให้บริการไปเมื่อปลายปี 66

วันก่อนเพิ่งเห็นข่าวว่า เวียดนามจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะทางเกือบ 1,600 กิโลเมตร เชื่อมต่อกรุงฮานอย เมืองหลวงที่อยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม กับนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ ด้วยงบประมาณ 58,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่าง 2 เมือง จาก 33 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 7 ชั่วโมง โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2578
อินโดนีเซียและเวียดนาม คิดทำรถไฟความเร็วสูงช้ากว่าไทย แต่ของไทยติดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาของถนนลูกรังที่ไม่ยอมหมดไปจากประเทศเสียที และการรัฐประหาร
ส่งผลทำให้รถไฟความเร็วสูงที่คิดจะทำตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 55-56) ต้องล่าช้าออกไป และมาเริ่มลงมือรถไฟความเร็วสูงสายแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 609 กิโลเมตร ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมือก่อสร้างในช่วงปลายปี 60 ระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จนป่านนี้เพิ่งก่อสร้างคืบหน้าไปไม่ถึง 40%
ในขณะที่ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ยังไม่ถึงขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างเลย!

“เสือออนไลน์” จึงต้องกระทุ้งไปยังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ต้องเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ให้รุดหน้าไปเร็วๆ กว่านี้ ภายในปี 68 ต้องได้ผู้รับเหมาก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คือรถความเร็วสูงสายนี้ 609 กิโลเมตร
ถ้าเสร็จช้ากว่าเวียดนาม นี่อายเขาตายเลย!
รวมทั้งต้องเร่งรัดการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินด้วย! จะปรับแก้ไขสัญญาให้กับผู้ได้สัมปทานรายเดิม ก็ต้องทำอย่างโปร่งใส สามารถอธิบายได้แบบไม่เข้ารกเข้าพง และควรจะลุยก่อสร้างได้ตั้งแต่กลางปี 68 เป็นต้นไป
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา จะล่าช้าตามไปด้วย

ที่สำคัญคือ ถ้ารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มลุยกันตั้งแต่กลางปีนี้ น่าจะมีโครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ มาลงในพื้นที่ จ.ชลบุรี อย่างแน่นอน (ถ้ากฎหมายผ่านรัฐสภา)
นอกจากโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย ที่กล่าวในข้างต้น “เสือออนไลน์” มีเรื่องฝากให้นายสุริยะ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย คิดให้ดีๆ ถ้าจะลงนามแก้ไขสัญญา ขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนรายเดิม ในระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาในเดือน ต.ค.78 แลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างโครงการ Double Deck มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นทางด่วนชั้นที่ 2 สายแรก และยาวที่สุดของไทย

ล่าสุด! สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอแนะมาใช่หรือไม่? ว่าโครงการ Double Deck จะยกให้เอกชนรายเดิมลุยก่อสร้างต่อไปเลยไม่ได้
แต่จะต้องเปิดประมูลแข่งขันกันใหม่ เพราะถือเป็นโครงการใหม่!
โครงการ Double Deck ควรเปิดประมูลแข่งขันกันใหม่ นายสุริยะจะว่าอย่างไร?
เสือออนไลน์