ราชกิจจาฯ ประกาศแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. เพิ่มอำนาจไต่สวนชี้มูล-ออกหมายจับ จนท.รัฐ สกัดกั้นการทุจริตประพฤติมิชอบผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีการแก้ไขหลักการในสาระสำคัญและเพิ่มหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนคดีให้กับสำนักงาน ป.ป.ท. ดังนี้ 1) แก้ไขบทนิยามคำว่า “ประพฤติมิชอบ” โดยกำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ การกระทําความผิดทางวินัย แต่ไม่รวมถึงทุจริตต่อหน้าที่ เป็นความผิดประพฤติมิชอบ เพื่อให้สํานักงาน ป.ป.ท. มีอํานาจในการดําเนินคดีวินัยและอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานความผิดประพฤติมิชอบด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอมอบหมายจากหน่วยงานอื่น 2) การรับส่งสํานวนคดีทุจริตต่อหน้าที่จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการบัญญัติรองรับทั้งมอบหมายเป็นการทั่วไป และมอบเป็นเรื่อง ๆ ไป ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 3) ระยะเวลาดําเนินการไต่สวน ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยให้เริ่มดําเนินการไต่สวนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และต้องดําเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขอขยายได้ไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่ เป็นคดีที่ต้องไต่สวนหรือขอรับเอกสารจากต่างประเทศให้ขยายระยะเวลาออกไปเท่าที่จําเป็น แต่รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 4) การดําเนินการทางวินัย ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลภายใน 60 วัน และหากไม่ดําเนินการโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 5) การออกหมายจับและอํานาจในการจับกุมผู้กระทําผิด กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมาย มีอํานาจดําเนินการโดยตรงในการยื่นคำร้องขอให้ศาลที่มีเขตอํานาจ ออกหมายจับ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูล หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี และในการจับหรือควบคุมตัว คณะกรรมการ ป.ป.ท. จะมอบหมาย พนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ดําเนินการแทนก็ได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของสำนักงาน ป.ป.ท. มีประสิทธิภาพและสอดคลัองกับสถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งขึ้นอ่านประกาศราชกิจจาฯ ฉบับเต็ม คลิก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/51917.pdf