
วอน “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ย เผย จีนพร้อมลงทุน “แลนด์บริดจ์” ลั่น ตัดไฟฟ้า-น้ำมันชายแดน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เห็นผล ยอดใช้ไฟลดลง 40% ช่วยเหยื่อได้เพิ่มขึ้น
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย” ในงานสัมมนา Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand ในวันนี้ (19 ก.พ. 2568) ว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้เห็นสัญญาณที่ดีมาก โดยปลายปีที่ผ่านมาตัวเลข GDP ปี 2567 ขยายตัวขึ้น 2.5% จาก 2% ในปี 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคในประเทศขยายตัว
ที่เห็นได้ชัดเจนคือตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการให้วีซ่าฟรีหลายประเทศ รวมถึงปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่น ความมั่นคง และความปลอดภัย ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

สำหรับปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ GDP เติบโตอยู่ที่ 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น และการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐเองก็ต้องช่วยผลักดันงบลงทุนภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้เรียกทุกภาคส่วนมาหารือเพื่อเร่งรัดการลงทุน เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบ อย่างไรก็ตาม หากนำตัวเลข GDP ประเทศไทยไปเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน จะพบว่าต่ำกว่าหลายประเทศ โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมของไทยไม่ได้มีการพัฒนามานาน ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ที่มีการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง หรือเวียดนาม ที่พัฒนาทักษะประชาชน เช่น การเขียนซอฟต์แวร์
นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจยังขาดสภาพคล่อง เพราะธนาคารยังปล่อยสินเชื่อไม่มากพอ โดยเฉพาะกับผู้กู้ที่มีความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดภาวะฝืดเคือง โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ซึ่งมีสัดส่วนถึง 75% ของเศรษฐกิจประเทศ เมื่อกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ไม่ได้ขยายตัวมากนัก
ในส่วนของงบประมาณภาครัฐ รายได้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในงบประจำ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกปี ทำให้งบสำหรับการลงทุนเหลือน้อยลง เมื่อตนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานรัดเข็มขัดงบประมาณ แต่ต้องทำการลงทุนควบคู่กันไป โดยต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ความจำกัดในการลงทุนยังมาจากข้อจำกัดของเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้รัฐบาลเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาเงินลงทุน แต่รัฐบาลพยายามหาทางออกเพื่อให้การใช้เงินลงทุนทุกบาททุกสตางค์มีประสิทธิภาพสูงสุด
อีกปัจจัยที่ต้องแก้ไขคือ การขาดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นจุดแข็งของประเทศไทยเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำให้การเพิ่ม GDP เป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งทำให้ยอดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือ 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5% ของ GDP

รัฐบาลยังมีเป้าหมายเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ โดยการสร้าง Man-made destinations เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้มีแผนสร้างจุดท่องเที่ยวใหม่ในทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดเมืองรอง การส่งเสริม Soft power ผ่านเทศกาลต่างๆ ก็เป็นแนวทางที่รัฐบาลมุ่งเน้น เพื่อให้ประเทศไทยไม่มี Low season
สำหรับมาตรการเร่งด่วน รัฐบาลได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไร ให้ช่วยปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ พร้อมขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งมองว่ายังสามารถทำได้ เพราะอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีดิจิทัล AI และเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-ลาว-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มโอกาสจ้างงาน
นอกจากนี้ รัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการ Land Bridge เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า โดยได้รับความสนใจจากจีน ซึ่งมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อศึกษาการลงทุน หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าผลไม้ได้ถึง 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย แม้จะมีผู้คัดค้านโครงการ Land Bridge แต่นายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
รัฐบาลยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยล่าสุดมีการทำข้อตกลง FTA กับยุโรปไปแล้ว 4 ประเทศ และมีแผนจะลงนามเพิ่มเติม สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อลดภาระหนี้สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และธุรกิจ SME ขนาดเล็ก
ตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา มีการปลดหนี้รายย่อยไปแล้วกว่า 8.3 แสนบัญชี ทำให้ผู้กู้สามารถกลับเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกครั้ง ด้านการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการตัดไฟฟ้าและน้ำมันที่ถูกส่งไปยังฝั่งเมียนมา ส่งผลให้ยอดใช้ไฟฟ้าลดลง 40% และช่วยเหลือเหยื่อได้เพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะเดินหน้าดึงการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมให้คำมั่นว่า GDP ของประเทศต้องดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
