
“IMF” สะกิดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
…
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯ สภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ “GDP” ของไทย ในไตรมาสที่ 4 ปี 67 ขยายตัว 3.2% และทั้งปี 67 ขยายตัว 2.5% ขณะที่ปี 68 ยังคงประมาณการขยายตัว 2.8%
“เสือออนไลน์” หรือใครต่อใครที่สนใจข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง จะเห็นข้อมูล 11 แบงก์พาณิชย์ มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 67 รวมกันถึง 2.53 แสนล้านบาท เติบโต 7.22% จากปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2.35 แสนล้านบาท
เรียกว่า.. กำไรสุทธิโตพรวดๆ อย่างต่อเนื่องมาหลายปี คือถ้ารวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 65-66-67 แบงก์พาณิชย์มีกำไรสิทธิรวมกันสูงถึง 7 แสนล้านบาท เลยทีเดียว!
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้โพสต์ลงในไอจีในเวลาต่อมาว่าขอให้ “แบงก์ชาติ” ช่วยลดดอกเบี้ย เพื่อลดให้ภาระประชาชน

ล่าสุด! กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงาน IMF Executive Board Concludes 2024 Article IV Consultation with Thailand โดยระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงดำเนินต่อไป แต่ค่อนข้างช้าและไม่สม่ำเสมอ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวโดยพอประมาณในปี 67 ซึ่งขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขณะที่กระบวนการงบประมาณที่ล่าช้า ทำให้การลงทุนของภาครัฐชะลอตัว
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของไทยที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นผลมาจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่มีมายาวนานของประเทศไทย ขณะที่แรงต้านภายนอกและภายในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ ยังส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ลดลงอีกด้วย ขณะที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก พร้อมความเสี่ยงด้านลบสำคัญ
นอกจากนี้ IMF แนะนำให้ “แบงก์ชาติ” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ และปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงจำกัดที่การกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางการให้สินเชื่อที่เข้มงวด และจากแนวโน้มความไม่แน่นอนที่สูง ทางการควรพร้อมที่จะปรับจุดยืนนโยบายการเงินตามข้อมูลและแนวโน้มด้วย

“เสือออนไลน์” ขอบอกว่าที่ผ่านมามีทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน และภาคธุรกิจ พยายามส่งสัญญาณไปยัง “แบงก์ชาติ” หลายครั้ง! ให้พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากฝ่ายบริหารคือรัฐบาลทำงานเกี่ยวกับนโยบายการคลัง ขณะที่แบงก์ชาติคือฝ่ายที่บริหารนโยบายการเงิน โดยที่นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินต้องเดินไปด้วยกัน
แต่ที่ผ่านมา เห็นกันแล้วว่านโยบายด้านการเงินของแบงก์ชาติ มีส่วนในการ “ถ่วงรั้ง” การเติบโตทางเศรษฐกิจ และ “จีดีพี” อย่างไรบ้าง
ถ้าการบริหารเศรษฐกิจประเทศที่ฝ่ายนโยบายการคลัง หรือรัฐบาลเหยียบคันเร่งเต็มที่! ทั้งการดึงการลงทุน FDI ที่ปี 67 สามารถดึงการลงทุนได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์, การท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ฝ่ายนโยบายการเงินพยายามแตะเบรค!

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือ “จีดีพี” ของประเทศจึงมีสภาพขยายตัวต่ำอย่างที่เห็น จากสภาพที่ดอกเบี้ยนโยบายไม่ยอมลด! แม้ภาวะเงินเฟ้อจะติดลบ ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยกู้ แต่เอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพราะดอกเบี้ยสูง และไม่มีความเสี่ยง เงินจึงถูกดูดออกจากระบบ ไม่ว่าจะชาวบ้าน ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่บ่นกันทั้งนั้นว่าตอนนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก! แต่กำไรมากมายไปกองอยู่ที่แบงก์พาณิชย์
อะไรกัน! เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวแค่ 2.5% แต่กำไรสุทธิของแบงก์พาณิชย์โตขึ้น 7.22%
เสือออนไลน์