
กสทช. กางไทม์ไลน์ประมูลคลื่นโทรคมนาคม 6 ย่านความถี่ 450 MHz คาดโกยรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ารัฐกว่า 1.2 แสนล้าน บอร์ดไฟเขียวงบ 70 ล้านเตรียมซ้อม 8 พ.ค.68 ก่อนเปิดศึกชิงคลื่น 17-18 พ.ค.68
ที่ประชุมคณักรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบไทม์ไลน์และกรอบงบประมาณสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 6 ย่านความถี่ ได้แก่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz รวมทั้งสิ้น 450 MHz คาดจะมีรายได้จากการประมูล 1.2 แสนล้านบาท หลังจากเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ระหว่างวันที่ 6-20 ก.พ.68 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะระหว่างวันที่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.68 กสทช. กำหนดแผนการดำเนินงาน ดังนี้
- 4 มี.ค.68 : นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุม กสทช.
- 6-13 มี.ค.68 : ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
- 15 มี.ค.-13 เม.ย.68 : เปิดรับสมัครผู้เข้าประมูล
- 16 เม.ย.68 : ยื่นคำขอเข้าร่วมประมูล
- 17-28 เม.ย.68 : ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร
- 6 พ.ค.68 : ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูล
- 8 พ.ค.68 : ซ้อมประมูล (Mock Auction)
- 17-18 พ.ค.68 : ประมูลจริง (Auction)
- ภายใน 7 วันหลังประมูล : ที่ประชุม กสทช. รับรองผลการประมูล
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังไฟเขียวงบ 70 ล้านบาท สำหรับการจัดประมูล แต่ที่ประชุมยังไม่มีการหารือในเเรื่องราคาตั้งต้นประมูล หลังจากที่ก่อนหน้าได้กำหนดราคาตั้งต้นประมูลไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้แสดงความเห็นว่าราคาตั้งต้นประมูลสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ส่วนราคาตั้งต้นประมูลเดิมมีรายละเอียดดังนี้
- คลื่น 850 MHz (2 ใบอนุญาต x 5 MHz) ใบละ 6,609 ล้านบาท
- คลื่น 1500 MHz (11 ใบอนุญาต x 5 MHz) ใบละ 904 ล้านบาท
- คลื่น 1800 MHz (7 ใบอนุญาต x 2x5 MHz) ใบละ 6,219 ล้านบาท
- คลื่น 2100 MHz (12 ใบอนุญาต x 2x5 MHz) ใบละ 3,391 ล้านบาท
- คลื่น 2100 MHz (3 ใบอนุญาต x 5 MHz) ใบละ 497 ล้านบาท
- คลื่น 2300 MHz (7 ใบอนุญาต x 10 MHz) ใบละ 1,675 ล้านบาท
- คลื่น 26 GHz (1 ใบอนุญาต x 100 MHz) ใบละ 423 ล้านบาท
