
"การที่ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอคุ้มครองของ ITD และไฟเขียวให้ กฟผ. ดำเนินการต่อไป ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนการประกวดราคาที่แม้จะดำเนินการด้วยวิธีพิเศษ แต่ก็อยู่ในขอบเขตเงื่อนไขที่กำหนด แต่กระทรวงพลังงานกลับอาศัยอำนาจที่มี "ล้วงลูก" กระตุกเบรกการประมูล ด้วยข้ออ้างเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล และแม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมาจะมีความกระจ่าง ไม่พบการทุจริตหรือจัดฮั้วประมูลแล้ว แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่ต้องชวดโครงการนี้ไปแล้วโดยสิ้นเชิง ได้มีโอกาสแก้ตัวใหม่ ยื่นข้อเสนอใหม่อีกระลอกนั้น มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความพยายามในการอุ้มสมกลุ่มทุนการเมืองอย่างมี "วาระซ่อนเร้น"!
...........
โศกนาฏกรรม (ซ้ำซาก) จากคานก่อสร้างถล่มบนนถนนพระราม 2 ที่คร่าชีวิตคนงานไปถึง 5 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 20 ที่กำลังเรียกแขกให้งานเข้า "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงคมนาคม จะแสดงความรับผิดชอบกี่โมง

เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวม ขาดมาตรการควบคุมกำกับดูแลทั้งในส่วนของผู้รับเหมา และบริษัทวิศวกรผู้ควบคุมโครงการ ที่ทำงานอีลุ่ยฉุยแฉก ปราศจากความรอบคอบ จนทำเอาวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องสัญจรผ่านถนนพระราม 2 ต้องใช้ชีวิตอย่างอกสั่นขวัญแขวน
ทุกครั้งเมื่อต้องสัญจรผ่านพื้นที่ก่อสร้างเป็นต้องนึกถึง "พ่อแก้วแม่แก้ว" ไม่รู้ว่าจะเจอ "แจ๊คพ็อต" เจอคานถล่ม หรือเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นมาทับหัวเอาเมื่อไหร่ เพราะนัยว่าสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ บนถนนสายนี้ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึงปีละกว่า 300 ครั้ง แทบจะเรียกได้ว่า เกิดขึ้นทุกวี่วันเลยก็ว่าได้
ร้อนถึงนายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" ถึงกับควันออกหูสั่งการให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดดำเนินคดีทั้งแพ่ง-อาญากับบริษัทรับเหมาที่ว่า รวมทั้งยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาผู้ควบคุมโครงการ โดยไม่ต้องรอมาตรการ "สมุดพกผู้รับเหมา" ที่กระทรวงคมนาคมโม่แป้งมาเป็นแรมปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา

ล่าสุด มีการเปิดเผย กลุ่มบริษัทรับเหมาที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงการนี้ ก็คือ ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในสัญญาที่ 3 ก็คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ร่วมกับ บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด โดยมีวงเงินดำเนินการตามสัญญา 7,359 ล้านบาท

หลังจากเปิดชื่อบริษัทรับเหมายักษ์กันออกมา ทุกฝ่ายต่างถึงบางอ้อ กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน "ไอทีดี - ITD" อีกแล้วหรือ? เพราะทุกฝ่ายต่างรู้กันดีว่าสถานะของ "ไอทีดี" ในระยะหลังอยู่ในสภาวะที่ง่อนแง่น มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักจนชักหน้าไม่ถึงหลัง มีกระแสข่าวติดค้างค่าแรงคนงานจนมีข่าวแรงงานต่างด้าวตามไซต์งานก่อสร้างต่างๆ เคยก่อหวอดประท้วงจนเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้ว และถึงขั้นที่บริษัทต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นขอยืดจ่ายหนี้หุ้นกู้ 5 รุ่น วงเงินกว่า 1.45 หมื่นล้านออกไปถึง 2 ปีมาแล้ว
ตัวผู้บริหารบริษัทเองก็เพิ่งสร้างวีรกรรมจากกรณี "เสือดำทุ่งใหญ่นเรศวร" จนถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นข่าวใหญ่โตออกไปทั่วโลก แต่ไม่รู้เหตุใดบริษัทยักษ์รับเหมารายนี้ยังคงกวาดงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องได้อยู่หรือกลุ่มทุนการเมืองรายนี้มีอะไรดีถึงได้รับการอุ้มชูจากฝ่ายการเมืองทั้งเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวขนาดนี้หรือไม่?
ก็ไม่รู้ท่าน "รมต.พีระพัง" เอ้ย! นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรบ้างไหมกับชื่อของ "ไอทีดี" ที่ว่านี้ เพราะเป็นผู้รับเหมารายเดียวกับที่เคยลุกขึ้นมาร้องแรกแหกกระเชอให้ รมต.พลังงาน ต้อง "ล้วงลูก" เข้าไปแทรกแซงการทำงานของบอร์ดและฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใน "โครงการประกวดราคาจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินเมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1ที่มีวงเงินกว่า 7,250 ล้าน"

จนถึงขั้นที่ รมต.พลังงาน ถึงกับมี "หนังสือสั่งการ" ให้บอร์ดและฝ่ายบริหาร กฟผ. ระงับการดำเนินการลงนามในสัญญาใดๆ ในโครงการนี้ไว้ก่อน (ทั้งที่เขามีการประกวดราคาเสร็จสิ้นไปแล้ว) ก่อนที่ รมต.พลังงาน จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนี้ ที่มี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตมือปราบเลื่องชื่อ พร้อมระดมนายตำรวจมือปราบระดับพระกาฬเข้าร่วมตรวจสอบชนิดที่เรียกว่า "ขนกันมาทั้งกรม" เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนี้
ก่อนจะได้ข้อสรุปผลตรวจสอบที่ทำเอาผู้คนที่เฝ้าลุ้นหน้าจอถึงกับ "หงายเงิบ" แทบกระเด็นตกเก้าอี้ เพราะคิดว่างานนี้คงเลือดสาด - ไส้ทะลัก ได้เห็นการเปิดโปง "ไอ้โม่ง" ที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการประมูลเป็นแน่ เพราะอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงพลังงานแต่งตั้งขึ้นมานั้น ล้วนเป็นนายตำรวจระดับมือพระกาฬทั้งสิ้น และแทบจะขนกันมาหมดกรมแล้วเพื่อการนี้
ที่ไหนได้ผลสรุปข้อเท็จจริงที่เลขานุการ รมว.พลังงาน ทำหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค.2568 แจ้งไปยังฝ่ายบริหาร กฟผ. กลับระบุแต่เพียงว่า การดำเนินโครงการว่าจ้างชุดขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษดังที่ กฟผ. ดำเนินการไปก่อนหน้า เพราะเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้เกิดขึ้นจริง และผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า กฟผ. ยังคงมีสต๊อกสำรองถ่านหินปริมาณมากพอสมควร ขณะที่ กฟผ. มีสายงานที่รับผิดชอบในส่วนเหมืองแม่เมาะเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ กฟผ. จะทราบความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างขุด-ขนถ่านหินได้ล่วงหน้า ทำให้สามารถวางแผนและเตรียมการเปิดประมูลขุด - ขนถ่านหินแบบกรณีปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษแต่อย่างใด

และหาก กฟผ. จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพิ่มเติม ก็สามารถเตรียมการล่วงหน้าที่จะเปิดประมูลขุด - ขนถ่านหินเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่กรณีที่ กฟผ. อ้างมติ กพช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นเหตุที่นำมาใช้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีวิธีพิเศษ แต่เมื่อสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้น ก็อยู่ในวิสัยที่ กฟผ. จะปรับแก้การดำเนินการดังกล่าวให้เหมาะสมและถูกต้องตาม PDP 2018 Revision 1 ได้
ก่อนที่ รมต.พลังงาน จะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก 3-4 ประเด็น ที่ถือเป็นข้อสั่งการหรือนโยบายไปยังฝ่ายบริหาร กฟผ. ให้กลับไปดำเนินการทบทวนโครงการนี้ใหม่ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายและบริบทที่อ้างข้างต้น พร้อมให้ กฟผ. ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความเหมะสมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยตอกย้ำให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษ แต่สามารถที่จะดำเนินการประกวดราคาปกติได้
แปลให้ง่าย ก็คือ กระทรวงพลังงานยังคงมีความเห็นที่จะให้ กฟผ. ดำเนินการทบทวนโครงการจ้างเหมาขุดขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะที่ว่านี้ใหม่อยู่ดี แม้ผลตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมาจะไม่พบความผิดปกติ ไม่พบการทุจริตหรือจัดฮั้วประมูลใดๆ ก็ตาม แต่กระนั้นกระทรวงพลังงานก็ยังคงต้องการให้ กฟผ. ดำเนินการพิจารณาทบทวนและดำเนินการจัดประกวดราคาใหม่ด้วยวิธีปกติอยู่ต่อไป
คำถามก็คือ เมื่อผลตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่พบการทุจริต จัดฮั้วประมูล ไม่พบไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังการประมูลที่ว่านี้ เงื่อนไขการประมูลทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์หรือตกเป็นเบี้ยล่างเอกชนแล้ว
แล้วกระทรวงพลังงานจะมุ่งมั่นให้ กฟผ. ดำเนินการจัดประกวดราคาโครงการใหม่เพื่ออะไร?
เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนการเมืองอย่าง "ไอทีดี" มีโอกาสได้ "แก้ตัว" แก้ไขเอกสารการประมูลจากที่เคยทำผิดพลาดในครั้งก่อน จนเป็นเหตให้ถูกตัดสิทธิ์จากการประมูลไปอย่างนั้นหรือ?
เพื่อเปิดโอกาสให้ "ไอทีดี" ที่เคยยื่นอุทธรณ์ผลประกวดราคาต่อคณะกรรมการอุทธณ์แล้ว แต่ไม่เป็นผล รวมทั้งที่นำเรื่องขึ้นฟ้อง กฟผ. และคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีพิศษต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ระงับการประมูล และขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองระหว่างรอคำพิพากษาก่อนหน้านี้ แต่ท้ายที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับคดีทางปกครองก่อนมีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวเพิ่มเติม: เนตรทิพย์: Hot Issue: ITD งานเข้าอีก! ศาลปกครองกลางยกคำร้อง ติดเบรกขุด-ขนถ่าน https://www.natethip.com/news.php?id=9788)

โดยศาลเห็นว่า การที่คณะกรรมการ กฟผ. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและคณะกรรมการจ้างโดยวิธีพิเศษพิจารณาว่า ITD มีข้อเสนอด้านวิชาการที่มีรายละเอียดไม่เป็นไปตาม TOR ที่กำหนดเป็นการดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) แล้ว
คงต้องถามไปยังกระทรวงพลังงานและรัฐบาลว่า มีใครบ้างไม่รู้ว่า การขุดขนถ่านหินที่ว่านี้ เป็นโครงการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือขุดขนถ่านหินเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่ประมูลจัดหาผู้รับเหมาทั่วไป จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้รับเหมาที่เข้ามาชิงดำโครงการนี้อยู่เพียง 2-3 รายเท่านั้น
"การที่ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอคุ้มครองของ ITD และไฟเขียวให้ กฟผ. ดำเนินการต่อไป ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนการประกวดราคาที่แม้จะดำเนินการด้วยวิธีพิเศษ แต่ก็อยู่ในขอบเขตเงื่อนไขที่กำหนด แต่กระทรวงพลังงานกลับอาศัยอำนาจที่มี"ล้วงลูก"กระตุกเบรกการประมูล ด้วยข้ออ้างเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล และแม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมาจะมีความกระจ่าง ไม่พบการทุจริตหรือจัดฮั้วประมูลแล้ว แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่ต้องชวดโครงการนี้ไปแล้วโดยสิ้นเชิงได้มีโอกาสแก้ตัวใหม่ ยื่นข้อเสนอใหม่อีกระลอกนั้น มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความพยายามในการอุ้มสมกลุ่มทุนการเมืองอย่างมี "วาระซ่อนเร้น"!

จึงไม่แปลกใจเอาเลย ที่หลังฝ่ายบริหาร กฟผ. ได้รับหนังสือแจ้งผลตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนี้จากกระทรวงพลังงาน สิ่งที่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวกับสื่อมวลชน ก็คือ การประกาศเดินหน้าโครงการนี้ในทันทีทันใด โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ จะสามารถลงนามในสัญญากับ บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) ผู้ชนะการเสนอราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 จำนวน 2 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 7,250 ล้านบาท หลังผลตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันออกมาแล้วไม่พบการทุจริตใด ๆ ในการประกวดราคาโครงการนี้ และให้ กฟผ. พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสม และตามอำนาจหน้าที่
และหาก รมต.พลังงาน จะลองย้อนไปพิจารณากรณีอื้อฉาวซื้อตึกร้าง Skyy9 วงเงินกว่า 7,000 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่กำลังทำเอากองทุนประกันสังคม และ สปส. นั่งไม่ติด เพราะหลับหูหลับตาซื้อตึกร้างที่เขารีโนเวทขายในราคาที่สูงกว่า 7,000 ล้าน เพื่อนำเอาตึกไปปล่อยเช่าหาค่าเช่า ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหรืองานถนัดของ สปส. แต่อย่างใด

แม้ฝ่ายการเมืองโดย "เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น" อดีต รมว.แรงงาน จะออกมาตอบโต้ฝ่ายค้านที่ถลกหนังเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยยืนยันนั่งยืนว่า ไม่เคยส่งบุคคลใกล้ชิด หรือตั้งเลขาหน้าห้องเข้าไปนั่งในบอร์ด สปส. หรือแทรกแซงชี้นำการพิจารณาจัดซื้อตึกอื้อฉาวที่ว่านี้แม้แต่น้อย ฝ่ายการเมืองไม่เคยรับรู้ในเรื่องของธุรกรรมการซื้อตึกอะไรที่ว่าแม้แต่น้อย แต่กระนั้นสังคมยังคงคลางแคลงใจ หากไม่มีใบสั่งการเมืองเข้าไปล้วงลูก มีหรือที่ สปช. จะหาญกล้ากระโดดเข้าไปลงทุนทำธุรกรรมที่มัน "ผิดมนุษย์มนา" ไปได้เช่นนี้

แถมไม่ใช่แค่การลงทุนซื้อแค่ตัวตึกหรือตัวอาคารมาหาประโยชน์ แต่ยังถลำลึกไปถึงขั้นดำเนินธุรกรรม "เทคโอเวอร์" เอาบริษัทหรือกองทรัสต์ที่เป็นเจ้าของตึกพร้อมหนี้มาบริหารด้วยอีก
พฤติกรรมการลงทุนที่ผิดมนุษย์มนาขนาดนี้ จะบอกว่าฝ่ายการเมืองไม่รู้ไม่เห็นผู้คนยังอดกังขาไม่ได้
กรณีประกวดราคาจ้างเหมาขุดขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ สัญญา 8/1 มูลค่ากว่า 7,250 ล้านบาท ที่ รมต.พลังงาน "ล้วงลูก" จนถึงขั้นมีหนังสือสั่งการไปยังฝ่ายบริหารและบอร์ด กฟผ. ก่อนหน้านี้ ด้วยข้ออ้างได้รับรายงานจาก พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ที่เป็นกรรมการบอร์ด กฟผ. โดยตรงนั้น
วันนี้ผู้คนในสังคมต่างเห็นและประจักษ์ชัดกันแล้ว พล.ท.เจียรนัย ที่ว่านั้นไม่เพียงจะเป็นที่ปรึกษา รมต.พลังงาน โดยตรงตามคำสั่งกระทรวงพลังงานที่ 45/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันในบริษัทส่วนตัว หรือบริษัทที่ครอบครัวของนายพีระพันธ์เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นโดยตรงอีกหลายบริษัทด้วย

แน่นอนหากเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นมา จนต้องไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่ รมว.พลังงาน จะชิ่งหนีเผือกร้อนหรือโบ้ยส่งว่าไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซง ชี้นำหรือล้วงลูกนโยบายใด ๆ แต่ทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลเท่านั้น เพราะมี "ใบเสร็จ" หลักฐานที่มัดแน่นซะขนาดนั้น จริงไม่จริง!!!
แก่งหิน เพิง