
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประชาชนเป็นแกนนำเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มา 2 วัน 1 คืน ด้วยแคมเปญ “ดีลแลกประเทศ” ภายใต้รัฐบาลที่ดีลกันบนผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เหยียบย่ำเสียงของประชาชน คนไทยต้องสูญเสียไปเท่าไร เพื่อให้คนบางคนได้กลับบ้าน ประเทศเสียหายไปแค่ไหน เพื่อให้ น.ส.แพทองธาร ได้เป็นนายกฯ หุ่นเชิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นนายกฯ ที่ถูกครอบงำโดยผู้เป็นพ่อ

งานนี้เลยถูกนายกฯ แพทองธาร อภิปรายปิดฉาก “ดีลแลกประเทศ” แบบแสบๆ คันๆ ว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย้ำถึงภาวะผู้นำและกรณีถูกครอบงำหลายครั้ง คนที่ย้ำเรื่องเดิมๆ หลายครั้ง ไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองขาดหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ต้องคิดแบบนั้นก็ได้ เพราะไม่ใช่แค่ตนที่ถูกกล่าว
แต่ผู้นำฝ่ายค้านถูกกล่าวหาเช่นกัน แต่ต่างกันเพราะตนถูกครอบงำโดยพ่อ แต่ผู้นำฝ่ายค้านถูกครอบงำโดยคนที่ไม่ใช่พ่อ

รวมทั้งกรณีพรรคเพื่อไทยโหวตในสภาฯ เพื่อดันหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 62 และช่วยโหวตให้หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน) หลังการเลือกตั้งปี 66 เพื่อสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ถึง 2 ครั้ง ตามที่ได้ดีลกัน แต่พวกท่านไม่เคยโหวตให้พรรคเพื่อไทยเลย
“เสือออนไลน์” ติดตามการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านมา 2 วัน ได้ข้อสรุปว่า ดีแล้วที่ฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายฯ ยาวถึง 5 วัน ตามที่ได้ตีปี๊บไว้ตั้งแต่แรก เพราะแค่ 2 วันก็เต็มที่แล้ว คือไม่มีประเด็นอะไรมากมายเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเก่าๆ ที่พูดกันมาหลายเดือนแล้ว เช่น ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง, กรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ, การปฏิรูปกองทัพ, วุฒิ-ภาวะผู้นำของนายกฯ, ปัญหาชาวอุยกูร์, ปลาหมอคางดำ
บางเรื่อง เช่น กรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และปัญหาชาวอุยกูร์ ก็เจอรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอกเอาฝ่ายค้านหน้าหงายไปเหมือนกัน
โดยมีเรื่องใหม่ๆ ที่ฝ่ายค้านพยายามทำการบ้านมาอภิปรายฯ ในครั้งนี้อยู่ 2 เรื่อง คือ 1. การเสียภาษี-การโอนหุ้นด้วยตั๋ว PN ของนายกฯ ทำถูกต้อง เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือเปล่า 2. โฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่นายกฯ เคยถือหุ้นอยู่ในฐานะเจ้าของ ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นเขตป่าสงวน เป็นเขตป่าต้นน้ำลำธารหรือเปล่า

แต่ฝ่ายค้านทำการบ้านมาอย่างหละหลวม! สุดท้ายคือไม่มีอะไรในกอไผ่ เนื่องจาก นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ได้ชี้แจงว่า การชำระหุ้นด้วยสัญญาใช้เงิน หรือ Promissory Note (PN) โดยไม่ระบุกำหนดวันชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ย สามารถทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยธุรกรรมของนายกฯ เป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์และวางแผนจะเรียกชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนในปี 69
ดังนั้น เครือญาติของนายกฯ ในฐานะผู้ขายหุ้น จะรับรู้รายได้และต้องยื่นแบบแสดงเงินได้เสียภาษีในปี 70 หากได้กำไรจากการขายหุ้น เช่นเดียวกับนายกฯ ต้องยื่นแบบแสดงเงินได้และชำระภาษีตามขั้นตอนปกติ และภาระภาษีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินสดเกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้ตั๋ว PN ที่ยังไม่เรียกให้ชำระหนี้ จึงไม่เกิดภาระภาษีตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง
รวมทั้ง นายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง iTAX ได้โพสต์ว่า กรณีของนายกฯ อาจเรียกได้ว่า เป็นการวางแผนภาษีแบบดุดัน (Aggressive tax planning) คือวางแผนภาษีแบบรัดกุมสุดๆ และถูกกฎหมายทุกประการ แต่ขัดใจความรู้สึกของใครหลายคนมองว่าเป็นการเลี่ยงภาษี โดยการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ถึงกฎหมายจะกำหนดให้คนไทยมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับให้ต้องเสียภาษีแพงที่สุดเท่าที่จะเสียได้ ดังนั้นการเลือกหนทางที่ทำให้ตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ตราบเท่าที่เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่กรมที่ดิน ชี้แจงเรื่องโฉนดที่ดินว่า คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้มีมติให้นิคมสร้างตนเองลำตะคอง อ.ปากช่อง นำพื้นที่ต้นน้ำลำธารไปจัดที่ดินให้กับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ได้มีการออก น.ค.3 ในพื้นที่ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และกันพื้นที่ไว้เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่าทดแทนและอนุรักษ์ดินและน้ำ ประมาณ 33,000 ไร่

ดังนั้น เมื่อราษฎรที่เป็นสมาชิกนิคมฯ ได้รับ น.ค.3 จึงสามารถขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก. ได้โดยการออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก. ผู้ปกครองนิคมฯต้องร่วมรังวัดและยืนยันความถูกต้องของ น.ค.3 ด้วย และโฉนดที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ได้ออกมาจาก น.ส.3 ก. ซึ่งออกจากหลักฐาน น.ค.3 เมื่อปี 28 และขายเปลี่ยนมือมาหลายทอด จนเปลี่ยนมือมาถึงบริษัท พีดี เขาใหญ่ จำกัด ในปี 60
ในพื้นที่นี้ไม่ได้มีการออกเฉพาะโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ เท่านั้น แต่มีการออกโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. จำนวนถึง 10,165 แปลง
เสือออนไลน์