
รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีทางออกอยู่เพียงสองทาง ได้แก่ 1. การแก้ไขสัญญา หรือ 2. การยกเลิกสัญญาและประมูลใหม่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ ทั้ง 2 ทางเลือก แล้วการยกเลิกสัญญาและประมูลใหม่ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้คู่สัญญาไม่ สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้ และการประมูลใหม่จะทำให้รัฐเสียประโยชน์
…
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ชี้แจงรายละเอียด ตามที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคประชาชน ได้กล่าวหากรณีแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ว่าให้เอกชนคว้าสัมปทานไปให้ได้ก่อน แล้วค่อยหาประโยชน์เพิ่มด้วยการแก้สัญญา
นายสุริยะยืนยันต่อ สส.ในสภาฯ ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นการกล่าวหาเพียงลอยๆ เพราะเหตุการณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารด้วยซ้ำ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันของหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุดที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันพิจารณา เพื่อให้รัฐไม่เสียประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นไม่มีหรอก Super Deal แสนล้านฯ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ทำสัญญากันมาตั้งแต่อดีต โดย ครม. ได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 27 มี.ค.61 และลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 แต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารเมื่อวันที่ 12 ก.ย.67


โดยโครงการนี้มีปัญหาด้านสัญญา จึงได้เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อให้โครงการนี้สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจาก 1. EEC มีการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หากถอยโครงการนี้ประเทศจะเสียหายมาก และเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนโควิด เมื่อมีสถานการณ์โควิด ทำให้มีผลกระทบต่อการลงทุนด้วย

2. นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามสัญญาข้อ 28.1 (1) (ฉ) เอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ได้ตามกำหนด เพื่อ ไม่ให้บริการหยุดชะงักครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ให้ รฟท. EEC และเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน ซึ่ง รฟท. และเอกชนจึงได้ทำ MOU โดยเอกชนต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการเดินรถ และบำรุงรักษาและรับความเสี่ยงทั้งหมด จนถึงปัจจุบัน เอกชนขาดทุนสะสมแล้วกว่า 500 ล้านบาท
3. ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา คือ เงื่อนไขของสัญญาที่เซ็นกันไว้ก่อนหน้านี้ระบุ ว่าเอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ก่อน จึงจะเริ่มก่อสร้าง ดังนั้นเมื่อเอกชน ได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์ของจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่สามารถเสนอแผนทางการเงินที่สมบูรณ์ตามแผนเดิม เพื่อขอรับบัตรส่งเสริมจาก BOI และระยะเวลาการขอรับบัตรส่งเสริมสิ้นสุดลง จึงเกิดสถานะ Dead Lock ของสัญญาขึ้น
ดังนั้น จึงมีทางออกอยู่เพียงสองทาง ได้แก่ 1. การแก้ไขสัญญา หรือ 2. การยกเลิกสัญญาและประมูลใหม่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 ทางเลือก แล้วการยกเลิกสัญญาและประมูลใหม่ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้ และการประมูลใหม่จะทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากผลกระทบทางต้นทุน และจะทำให้โครงการล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 3 ปี จะส่งผลให้มูลค่าการก่อสร้างสูงขึ้นอย่างมาก และจะกระทบต่อแผนงานโครงการ โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในพื้นที่ EEC ที่ลงทุนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้ การประมูลใหม่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องและข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้โครงการหยุดชะงักและไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการก่อสร้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากศาลมีคำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนแนวทางการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่ สส.พรรคประชาชน กล่าวหาว่า มีการเปลี่ยนแปลงจากการจ่ายค่างานโยธาให้กับเอกชน จากเดิมที่จะจ่ายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นการจ่ายตามความก้าวหน้าของการก่อสร้าง ต้องชี้แจงว่า โครงการนั้นยังคงเป็นรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนเดิม และเอกชนยังคงรับความเสี่ยงรายได้จากปริมาณผู้โดยสารเหมือนเดิม รัฐไม่ได้เสียผลประโยชน์แต่อย่างไร
โดยจะเห็นว่า 1. เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม 160,000 ล้านบาท เพื่อประกันความสำเร็จของการก่อสร้างและการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง 2. ที่ท่าน สส.ได้บอกว่า การแก้ไขสัญญา รัฐจะเสียหาย เป็นการช่วยเอกชนให้ลดต้นทุน จึงขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง แนวทางในการแก้ไขสัญญาคือ รัฐจะจ่ายเงินน้อยลงจาก 149,650 ล้านบาท เหลือ 125,932 ล้านบาท เพราะเป็นการจ่ายระหว่างการสร้าง ทำให้รัฐสามารถประหยัดดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 24,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การสร้างไปจ่ายไป เอกชนจะต้องโอนสิทธิความเป็นเจ้าของให้รัฐเมื่อได้รับเงินร่วมลงทุน จะช่วยให้โครงการนี้เกิดความมั่นคง หากเอกชนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ รัฐยังสามารถหาเอกชนรายใหม่มาดำเนินการต่อไม่เป็นปัญหาเหมือนโครงการโฮปเวลล์ในอดีต
จึงขอแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ กระทรวงคมนาคม ยังคงยึดตามหลักการเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.61 แต่กำหนดให้เอกชนต้องจ่ายดอกเบี้ยและหลักประกันเพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน ได้มีการปรับให้รัฐได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น และปรับวิธีแบ่งจ่าย ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณกว่า 24,000 ล้านบาท และได้หลักประกันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กระบวนการแก้ไขสัญญายังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐจะไม่เสียหายและเสียประโยชน์ จึงขอยืนยันต่อ สส. ทั้งสภาฯ อีกครั้งว่า การแก้ไขปัญหาตามหลักการ จะทำให้รัฐไม่มีความเสี่ยง รัฐจ่ายเงินร่วมลงทุนเท่าเดิม และรัฐได้ค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ เท่าเดิม
เสือออนไลน์