
จากรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดอาคารชุด ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในที่อยู่อาศัยประเภทนี้และทำให้ราคาตกจริงหรือ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขอยืนยันว่า เรื่องการขาดความเชื่อมั่นในตลาดอาคารชุดคงไม่เกิดขึ้นจริง และราคาก็คงไม่ได้ตกต่ำดังอ้าง เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องไม่พึงตระหนกจนเกินเหตุ (Panic) มาลองดูเหตุผลประกอบและโปรดพิจารณาด้วยวิจารณญาณ
อย่างกรณี สึนามิภูเก็ต ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 5,400 และบาดเจ็บอีกประมาณ 8,000 คน ในตอนนั้นหลายคนก็ไม่กล้าไปเที่ยวภูเก็ตยังเชื่อว่าราคาที่ดินจะตกต่ำ แต่ ดร.โสภณ ก็ได้ไปสำรวจในปีถัดไปและพบว่า ราคาที่ดินในฝั่งตะวันตกแถบทะเลอันดามันแทบไม่ขึ้นในหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ฝั่งตะวันออกราคาที่ดินยังขึ้นตามปกติ และจากการสำรวจต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ 2547 ถึง 2567 ปรากฏว่าราคาที่ดินตามหาดต่างๆ ของโดยเฉลี่ยในภูเก็ตเพิ่มขึ้นปีละ 10% ดังนั้นเราจึงไม่ควรตกใจจนเกินไป
หลายคนเชื่อว่า ในกรุงเทพมหานคร ราคาห้องชุดจะตกต่ำหรือไม่มีคนกล้าซื้ออีกต่อไป ข้อนี้พึงพิจารณาจากกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเมื่อปี 2558 ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงกาฐมาณฑุ เมื่อปีดังกล่าว และไปสำรวจซ้ำในอีกสามปีถัดมาพบว่าขนาดว่ามีแผ่นดินไหวใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ก็เพียงทำให้ราคาห้องชุดหยุดชะงักไปปีหนึ่ง หลังจากนั้นราคาก็ยังเพิ่มขึ้นตามปกติเช่นเดียวกับที่อาศัยแนวราบ อาคารชุดที่เป็นอาคารสูงล้วนไม่พังลงมา ยกเว้นโครงการเดียวเท่านั้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง 14 ชั้น แต่ก่อสร้างจริงถึง 18 ชั้น ที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ อาคารชุดยังแข็งแรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
การตกใจกลัวจนรีบขายห้องชุดเช่นขายครึ่งราคาก็จะทำให้ผู้ขายได้รับความเสียหายทางการเงินอย่างหนัก ทั้งที่อาคารชุดอาจไม่ได้รับความเสียหายจริง เพราะเชื่อว่าอาคารชุดแทบทั้งหมดไม่ได้รับความเสียหายหรือมีความเสียหายเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถซ่อมแซมได้ แต่ในอีกทางหนึ่งหากเกิดความปริวิตกหนัก และมีการเทขายในราคาถูก ก็อาจเป็นโอกาสทองสำหรับการลงทุนซื้อในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากของนักลงทุนก็เป็นไปได้
ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องแผ่นดินไหว หลายประเทศที่อยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยกว่าไทยเป็นอย่างมากก็มีการสร้างอาคารชุดเป็นตึกสูงใหญ่มากมายเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้ในประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีน้อยกว่าไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ตาม ประชาชนจึงไม่ควรหลงขายทรัพย์สินในราคาถูกๆ หากอาคารไม่ได้รับการยืนยันว่าไม่ปลอดภัย