สตง. แจงผลการตรวจสอบโครงการ DLIT ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 วงเงิน 232.71 ล้านบาท พบใช้อุปกรณ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เสี่ยงต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า เหตุเกิดจากขาดความพร้อมก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ เช่นเดียวกับโครงการ DLTV ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ถึง 2564 วงเงิน 1,136.25 ล้านบาท อาจซ้ำรอยมีปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT (Distance Learning Information Technology) ให้กับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 รวมจำนวน 1,996 แห่ง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 232.71 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ นั้น จากการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสุ่มสังเกตการณ์โรงเรียนสังกัด อปท. ที่ได้รับจัดสรรอุปกรณ์ ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก โทรทัศน์ (LED TV) และชุดโปรแกรมระบบปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และมีความเสี่ยงต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า
“โรงเรียนสังกัด อปท. ที่ได้รับการจัดสรรอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีปัญหาสัญญาณจากระบบอินเทอร์เน็ตช้าและไม่เสถียร บุคลากรครูขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ไม่มีการใช้ชุดอุปกรณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนหลังจากได้รับชุดอุปกรณ์แล้วนานถึง 11 เดือน ในขณะที่โรงเรียนสังกัด อปท. ที่จัดการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและระดับชั้นอนุบาล) ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สมวัย เนื่องจากไม่มีหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัยในคลังสื่อห้องเรียนแห่งคุณภาพ DLIT ซึ่งโรงเรียนต้องนำมาใช้เพื่อจัดการเรียน การสอน” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
ผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการขาดการเตรียมความพร้อมก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณและการติดตามประเมินผลหลังดำเนินโครงการ เช่น การจัดอบรมให้ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาล่าช้า การสำรวจข้อมูลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ระบบอินเทอร์เน็ต) ของโรงเรียนสังกัด อปท. และการติดตามผลการดำเนินงานขาดความต่อเนื่อง และจากการพิจารณาแผนการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ DLTV (Distance Learning TV) ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยสังกัด อปท. ซึ่งกำหนดระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2564) จำนวน 20,659 แห่ง วงเงินงบประมาณ 1,136.25 ล้านบาท โดยได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562 วงเงินงบประมาณ 378.78 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อปท. ดำเนินการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ทั่วประเทศ สำหรับติดตั้งห้องเรียน DLTV ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท. จำนวน 6,887 แห่ง พบปัญหาการขาดการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการ และความพร้อมด้านบุคลากรครูหรือผู้ดูแลเด็กเล็กอย่างเพียงพอเช่นเดียวกัน
“จากข้อมูลจำนวนพนักงานครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีอัตราส่วนเด็กปฐมวัยต่อครูผู้ดูแลเด็ก 20 ต่อ 1 ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ : คู่มือการดำเนินงานตามมาตรฐาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่กำหนดอัตราส่วนเด็กปฐมวัยต่อครูผู้ดูแลเด็กไว้ 10 ต่อ 1 และหากมีเศษเด็กปฐมวัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปให้มีตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กเพิ่มได้อีก 1 คน ซึ่งการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี) ที่มุ่งเน้นพัฒนาการด้านสติปัญญา และร่างกาย จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรครูหรือผู้ดูแลเด็กต้องมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะในการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้อง และสามารถจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อ DLTV หรือ DLIT ได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการพัฒนาสมวัย สามารถให้คำแนะนำ กำกับ ดูแลเด็กได้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสติปัญญาและร่างกาย รวมทั้งด้านสังคมและอารมณ์ร่วมอันเกิดจากการใช้สื่อ DLTV หรือ DLIT” ผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุ
จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้อธิบดี สถ. พิจารณาดำเนินการเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น สั่งการให้ อปท. ที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยสำรวจสภาพปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา เช่น ปัญหาขาดแคลนครูหรือครูสอนไม่ตรงสาขาวิชา รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถานศึกษา ประสานหน่วยงานที่มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขอความร่วมมือในการ บูรณาการ นิเทศก์ ติดตาม ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือสถานศึกษาในสังกัด อปท. ในการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงกำชับผู้รับผิดชอบให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องโดยเคร่งครัด เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการวางแผนการดำเนินโครงการหรือจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุด สถ. ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อให้แจ้ง อปท. ที่จัดการศึกษาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ สถ. เพื่อรายงานให้ สตง. ทราบ และใช้เป็นข้อมูลในการบริหารและพัฒนาการศึกษาของ อปท. ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป