สัญญาณแรงของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ส่งผ่านในการบรรยายหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” มีประเด็นหลักเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ที่ปรับมาทำสงครามไฮบริด (HYBRID WARFARE) สงครามลูกผสมแบบดั้งเดิมกับวิธีอื่น โดยบางคนเป็นนักการเมืองภาคใต้มาเกาะแข้งเกาะขาเพื่อนพ่อ (เกาะขาทหาร) ไปตั้งพรรคการเมือง บางคนเป็นนักวิชาการนักเรียนนอกซ้ายจัดดัดจริตที่เคยไปเรียนในประเทศล่าอาณานิคม ไปสมคบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์ที่เป็นมาสเตอร์มายด์ อีกพวกคือนักธุรกิจฮ่องเต้ซินโดรม มีพฤติกรรมล้มล้างชาติและสถาบัน..สำหรับหนึ่งในหลายเรื่องที่ ผบ.ทบ.ออกมาเตือนครั้งนี้ คือ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ซึ่งกล่าวว่า ไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ แต่มีการเสนอแก้มาตรา 1 ในเวทีเสวนาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากชี้แจงว่ามาตรานี้เกี่ยวกับความมั่นคง เกี่ยวกับเลือดเนื้อ บรรพบุรุษที่รักษาขวานทองไว้ โดยมาตรา 1 ระบุ ”ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”นั่นเป็นด้านความมั่นคง ส่วนทางด้านกายภาพ หลายประเทศที่มีการแยกแผ่นดิน เช่นขุดคลองเชื่อมมหาสมุทร เพื่อหวังจะสร้างความเจริญ แต่เมื่อมองภาพรวมของประเทศที่ได้ ด้วยเงินลงทุนที่สูงมากต้องกู้จากต่างประเทศ ผลประโยชน์ที่นานาชาติต่างแย่งชิงกันในโครงการนั้น ความเสี่ยงต่างๆ ที่คาดไม่ถึง ทำให้สิ่งที่ได้รับจะไม่คุ้มค่าเห็นได้จากบทเรียนโครงการ ”คลองสุเอช” ที่เริ่มขุดเมื่อปี 2402 ตามแผนจะใช้เวลาสองปีขุดเสร็จ โดยฝรั่งเศสนายแฟร์ดินองด์ เดอ เลสเซฟ ใช้ความสนิทกับกาดีฟ เจ้าผู้ครองอียิปต์ ภายใต้จักรวรรดิออตโตมัน-เติร์ก ตั้งบริษัทคลองสุเอช จำกัดขึ้นมาทำโครงการ ฝ่ายฝรั่งเศสถือหุ้น 50% ฝ่ายอียิปต์ถือ 50% โดยตีราคาที่ดินซึ่งยกให้มาเป็นเขตคลองที่กว้างใหญ่มหาศาล และค่าแรงกรรมกรชาวอียิปต์ที่เกณฑ์มาไม่ต้องจ่ายค่าแรงไปเป็นหุ้น ด้วยเงื่อนไขบริษัทเช่าที่ดินเขตคลองปานามาเป็นเวลา 99 ปีเมื่อเซ็นสัญญาก็เท่ากับยกอำนาจอธิปไตยให้ฝรั่งเศส ทางอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลในอียิปต์จึงไม่พอใจ กลัวฝรั่งเศสควบคุมเส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอช ทางอังกฤษจึงพยายามเข้ามามีส่วนถือหุ้น และภายหลังอียิปต์ถึงรู้ว่าโดนหลอก เพราะการขุดคลองสุเอชใช้แรงงานขุดไม่สำเร็จ ต้องใช้เครื่องจักร อียิปต์จึงต้องเอาเงินจริงมาลงทุนด้วย แต่อียิปต์ไม่มีเงิน จึงต้องแก้สัญญาใหม่ ที่ดินมหาศาลเขตพื้นที่คลองโดนตีมูลค่าได้แค่ 10% จะออกพันธบัตรเงินกู้ก็ไม่มีใครซื้อ จึงต้องขายหุ้นที่เหลือ 40% ให้กับอังกฤษ และโดนแก้สัญญาให้คลองสุเอชเป็นน่านน้ำสากล จะปิดไม่ได้ทั้งยามสันติและสงคราม จากนั้นการขุดถึงเริ่มได้รวมทั้งต้องใช้เวลาถึงสิบปีจึงเสร็จ อียิปต์เลยเจ็บแค้นกับเรื่องนี้มาก เพราะได้แค่ค่าเช่ากับส่วนแบ่งกำไรปีละเล็กน้อยกรณี ”คลองปานามา” ทางฝรั่งเศสคนเดิมนายแฟร์ดินองด์ เดอ เลสเซฟ วิ่งเต้นให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษ เข้าไปมีส่วนร่วมขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสุมทรแปซิฟิก แต่สหรัฐอเมริกาขัดขวาง โดยอ้างวาทะมอนโร ที่ไม่ให้ชาติใดเข้ามายุ่งกับทวีปอเมริกา โดยสหรัฐฯ จะขุดเองในดินแดนของโคลัมเบีย เพราะขณะนั้นปานามายังเป็นจังหวัดหนึ่งของโคลัมเบียทั้งนี้การเจรจาเช่าทางสหรัฐฯ ขอเช่าแบบไม่มีกำหนด ด้านรัฐสภาโคลัมเบียจึงลงมติ ไม่ยอมรับร่างสัญญาเช่า จากนั้นเกิดกบฎในจังหวัดปานามา ฝ่ายกบฏประกาศแยกประเทศปานามา ออกจากประเทศโคลัมเบีย เมื่อตั้งประเทศปานามาเสร็จจึงเซ็นสัญญากับสหรัฐฯ ให้เช่าพื้นที่ขุดคลองปานามาเชื่อมสองมหาสมุทรในผลตอบแทนเพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเช่าอีกปีละกว่าแสนดอลลาร์สหรัฐของอายุสัญญาแบบไม่มีกำหนดหรือให้เช่าตลอดไป ตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ทั้งทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ โดยคลองปานามาเริ่มขุดปี 2447 ใช้เวลาขุดสิบปีบริหารโดยสหรัฐ ส่วนประเทศโคลัมเบีย ไม่ได้อะไรเลยและเสียดินแดนปานามาไปหลังเปิดเดินเรือทั้งคลองสุเอช กับ คลองปานามา มีการเดินเรือผ่านคึกคัก แต่บริเวณปากคลองและสองข้างทาง “ไม่เห็นมีการลงทุนคลังเก็บสินค้าหรือคลังน้ำมันอย่างที่คาดหมายกัน”ทั้ง ”ประเทศอียิปต์ กับประเทศปานามา ก็ยังยากจน”เพราะการลงทุนมหาศาลต้องกู้เงินต่างประเทศ หากหารายได้ไม่มากพอ ก็ต้องโดนต่างประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ยึด รวมทั้งด้วยผลประโยชน์หลากหลายกับนานาชาติ จึงทำให้หลายประเทศต่างเข้ามามีอิทธิพลเพื่อรักษาผลประโยชน์บทเรียนดังกล่าว ทำให้โครงการ ”ขุดคอคอดกระ” ของประเทศไทยจึงไม่เกิดขึ้น แม้จะมีบางโครงการลงทุนลักษณะ ไม่ต้องขุดแผ่นดินแยกออกไปเป็นคลองก็ไม่คุ้ม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลายรัฐบาลเคยเล่าว่า อย่างโครงการลงทุนวาง ”ท่อน้ำมันขนาดใหญ่พาดคอคอดกระ” เพื่อให้เรือน้ำมันมาจอดทางฝั่งทะเลตะวันตก สูบน้ำมันผ่านท่อมาลงเรือฝั่งทะเลตะวันออก ไม่ต้องล่องเรืออ้อมช่องแคบมะละกา ก็เจอปัญหาการสูบน้ำมันจากเรือใหญ่ 2 แสนตันต้องอุ่นน้ำมันและต้องใช้เวลาสูบผ่านท่อเฉลี่ยเป็นสิบวัน ซึ่งใช้เวลาพอๆ กับอ้อมมะละกานอกจากนี้ยังมีบางโครงการเสนอจะสร้างถนนขนาดใหญ่ที่แข็งแรงมาก เพื่อที่จะเข็นเรือจากฝั่งมหาสมุทรหนึ่งไปอีกฝั่งมหาสมุทรหนึ่ง ที่เรียกว่า ”สะพานบกหรือแลนด์บริดจ์“ ซึ่งเทคโนโลยีด้านนี้ยังไม่เคยเห็น เงินลงทุนไม่รู้จะสูงขนาดไหน และค่าบริการจะจูงใจให้เรือมาใช้แทนวิ่งอ้อมช่องแคบมะระกามากพอจะไปใช้หนี้ที่กู้มาลงทุนหรือไม่ ยังไม่ต้องคิดไปถึงขั้นว่าจะทำให้ตรงนั้นกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งทางเรือ มีการลงทุนคลังสินค้า ลงทุนคลังน้ำมัน ตามบทเรียนที่คลองสุเอช และคลองปานามา เจ็บช้ำมาแล้วก็หวังว่าคงไม่มีใครคิดไปปลุกผีโครงการเมกะโปรเจกต์คอคอดกระมากระตุ้นเศรษฐกิจอีก เพราะด้วยเทคโนโลยีขณะนี้ ไม่ว่าจะคิดมิติไหน ก็ไม่มีทางคุ้ม!โดย-คนฝั่งธนฯ